posttoday

ไทยโชว์แผนเชื่อมระบบรางเพื่อนบ้าน เวทีอาเซียนซัมมิท

29 ตุลาคม 2562

กางแผนเชื่อมระบบรางอาเซียนไร้รอยต่อ หนุนคนไทยใช้รถไฟไปรอบโลก ทุ่ม 1 ล้านล้านบาท ปั้นบางซื่อ ฮับขนส่งคุณหมิง-สิงคโปร์

กางแผนเชื่อมระบบรางอาเซียนไร้รอยต่อ หนุนคนไทยใช้รถไฟไปรอบโลก ทุ่ม 1 ล้านล้านบาท ปั้นบางซื่อ ฮับขนส่งคุณหมิง-สิงคโปร์

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยในงาน ASEAN Railway CEOs’ Conference ว่าประเทศไทยได้จัดงานการประชุมผู้ว่าการรถไฟอาเซียน เพื่อเตรียมพร้อมรับงานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (Asean Summit) ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ที่ประเทศไทย ซึ่งในงานจะมีการพูดถึงการเชื่อมโยงระบบขนส่งทางรางอาเซียน การทำตลาดเชิงพัฒนาระบบรางของชาติ การยกระดับอุตสาหกรรมทางราง ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพการรถไฟในภูมิภาคอาเซียนให้เทียบเท่าสากล

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัว Websiteของการรถไฟอาเซียน (ASEAN Railways Portal)ซึ่งเป็น Websiteที่รวบรวมข้อมูลข่าวสารด้านการรถไฟ องค์ความรู้ ตลอดจนเส้นทางเดินรถไฟของประเทศสมาชิก 7 ประเทศ คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ไทย และเวียดนาม

สำหรับประเทศไทย ขณะนี้สามารถเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านได้แล้ว ได้แก่ 1.ภาคใต้ ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ ซึ่งมีจุดเชื่อมที่สุไหงโกลก จังหวัด นราธิวาส และปาดังเบซาร์ จังหวัด สงขลา โดยเชื่อมต่อระบบรางของมาเลเซียไปสิงคโปร์ได้ 2. ภาคอีสาน ไทย-สปป.ลาว-จีน นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อระหว่างกัน รองรับขนส่งคนและสินค้า สามารถเชื่อมต่อระบบรางไปยังเส้นทาง คุณหมิง-ปักกิ่ง ใช้เวลา 8 ชม. เมื่อไปถึงปักกิ่งสามารถเชื่อมต่อระบบรางไปยังรัสเซียและประเทศกลุ่มยุโรป

3.ภาคตะวันออก ไทย-กัมพูชา ในปี 2562 ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการเตรียมเปิดเดินรถเชื่อมต่อกันช่วงอรัญประเทศ-ปอยเปต พร้อมมอบรถไฟ 1 ขบวนให้เป็นของขวัญแก่รัฐบาลกัมพูชา 4.ทางภาคตะวันตก ไทย-เมียนมาร์ อยู่ระหว่างหารือระหว่างรัฐบาล เพื่อเปิดเดินรถไฟเชื่อมบริเวณด่านเจดีย์สามองค์ และทางฝั่งทวาย 5.หารือกับมาเลเซีย เกี่ยวกับรถไฟสายสุไหงโกลก-ปาซีร์มัส โดยจะฟื้นฟูรถไฟสายนี้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าชายแดนทางภาคใต้

“การใช้บริการโดยสารด้วยรถไฟมีความนิยมมาช้านานและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต เมื่อระบบรางอาเซียนเชื่อมถึงกันแบบไร้รอยต่อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุในยุค Aging Society การเดินทางด้วยรถไฟสะดวกสบายกว่า รวมถึงกลุ่มทัวร์ที่ชื่นชอบการชมวิวทิวทัศน์ระหว่างทาง และการท่องเที่ยวในประเทศตามแนวเส้นทางรถไฟ อีกทั้งยังสามารถขนส่งสินค้าระหว่างชาติอาเซียนได้อีกด้วย”นายวรวุฒิกล่าว

นายวรวุฒิ กล่าวว่า ด้านความคืบหน้ารถไฟไฮสปีดนั้น เริ่มจากโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ได้เสนอเรื่องการเวนคืนพื้นที่โครงการ จำนวน 800 ไร่ มูลค่าราว 3,000 ล้านบาทเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) หากได้รับความเห็นชอบจะเสนอการออกพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 เดือน พอดีกับช่วงที่ให้เวลาเอกชนออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างเพื่อกำหนดจุดการส่งมอบพื้นที่ต่อไป ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ขณะนี้จะเร่งลงนามสัญญาก่อสร้างทุกสัญญา เปิดใช้ในปี 2566-2567 ควบคู่ไปกับการออกแบบศึกษารายละเอียดการก่อสร้าง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย พร้อมออกแบบสะพานรถไฟเชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์ ก่อนเปิดประมูลเพื่อก่อสร้างต่อไป

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) แจ้งว่าแผนพัฒนารถไฟของ รฟท.ที่นำเสนอในการประชุมระดับผู้นำรถไฟอาเซียนนั้นประเทศไทยมีแผนพัฒนาระยะ 5 ปี เพื่อขยายโครงข่ารระบบรางให้ครอบคลุม 4,565 กม. ได้แก่ รถไฟทางคู่ 2,476 กม. รถไฟความเร็วสูง 1,248 กม. รถไฟสายใหม่เข้าสู่จังหวัดต่างๆ 841 กม.

สำหรับรถไฟทางคู่ นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างเฟสแรก รวม 5 เส้นทาง เปิดใช้ ปี 2565-2566 พร้อมแผนลงทุนรถไฟทางคู่ เฟส 2 วงเงินมากกว่า 3 แสนล้านบาท ขยายเส้นทางให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ช่วงกรุงเทพ-สุไหงโกลก รวมถึงครอบคลุมภาคอีสานและภาคเหนือ ขณะที่รถไฟความเร็วสูงมีอยู่ในแผน 3 สาย ลงทุนมากกว่า 7 แสนล้านบาท ได้แก่ 1.รถไฟความเร็วสูงสายอีสานกรุงเทพ-หนองคาย 2.รถไฟความเร็วสูงสายเหนือ กรุงเทพ-พิษณุโลก 3.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

ส่วนสถานีกลางบางซื่อ เปิดใช้ปี 2564 จะเป็นสถานีใหญ่สุดในอาเซียนบนพื้นที่ 275,000 ตารางเมตร หวังเป็นศูนย์กลางระบบราง ทำให้เส้นทางรถไฟสายคุณหมิง-สิงคโปร์ สามารถเชื่อมต่อไปยังสองสนามบินหลักในไทยที่มีผู้โดยสารมากกว่า 100 ล้านคนต่อปี และเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงเดินทางไปจีนได้ หรือเลือกใช้รถไฟทางคู่ไปเชื่อมต่อมาเลเซียและสิงคโปร์ พร้อมรองรับระบบรถไฟฟ้ารวมถึงรถไฟใต้ดินในกรุงเทพ เป็นทางเลือกให้ผู้โดยสารที่อยากสัมผัสเมืองหลวงของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาย่านการค้า แหล่งช็อปปิ้งบริเวณโดยรอบสถานี เหมือนกับสถานีระบบรางขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น เช่น โตเกียวและโอซาก้าเป็นต้น