posttoday

ลงนามแล้ว!! ไฮสปีด3สนามบิน ปักหมุดรออีก 6 ปี ได้นั่งแน่นอน

24 ตุลาคม 2562

"บิ๊กตู่" นั่งหัวโต๊ะ ลงนามรถไฟไฮสปีดอีอีซี ตอกเสาเข็มปลายปี'63 เปิดให้บริการภายในปี' 68 กระตุ้นเศรษฐกิจเอเชีย-สร้างงานนับแสนตำแหน่ง กลุ่มซีพีทุ่มลงทุนมักกะสัน 1.4 แสนล้านบาท เนรมิตอสังหาฯไฮเอนด์

"บิ๊กตู่" นั่งหัวโต๊ะ ลงนามรถไฟไฮสปีดอีอีซี ตอกเสาเข็มปลายปี'63 เปิดให้บริการภายในปี' 68 กระตุ้นเศรษฐกิจเอเชีย-สร้างงานนับแสนตำแหน่ง กลุ่มซีพีทุ่มลงทุนมักกะสัน 1.4 แสนล้านบาท เนรมิตอสังหาฯไฮเอนด์

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุน 2.4 แสนล้านบาท ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) ว่า ถือเป็นโครงการที่สำคัญของประเทศ ทั้งการพัฒนาการคมนาคมทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การขยายเมืองใหม่ รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และความไว้วางใจจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการก่อสร้างโครงการดังกล่าวนั้น เป็นไปตามที่สัญญากำหนดไว้

ทั้งนี้ได้เตรียมทางออกในการรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่เป็นปัญหาไว้แล้ว เพราะเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานในเรื่องนี้

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นโครงการประวัติศาสตร์ที่จะพลิกโฉมไปสู่ยุคใหม่ของระบบรางประเทศไทย สนับสนุนการเดินทางแบบไร้รอยต่อระหว่างระบบขนส่งคมนาคม ไปพร้อมกับยกระดับไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งยังสะท้อนความแข็งแกร่งของความร่วมมือกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในภูมิภาคเอเซียเพื่อต่อสู้กับสภาวะเศรษฐกิจโลก และเป็นครั้งแรกที่ผู้นำเทคโนโลยีรถไฟไฮสปีดอย่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน จับมือกันลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในประเทศที่สาม ซึ่งโครงการนี้มีมูลค่าสูงที่สุดตั้งแต่ไทยเคยพัฒนาระบบขนส่งมวลชน แน่นอนว่าไม่เพียงเกิดประโยชน์ต่อประชาชนไทย ทั้งการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโครงการไม่ต่ำกว่า 100,000 ตำแหน่ง แต่ยังเกิดประโยชน์กับประชากรเอเซียที่สามารถเดินทางถึงกันได้แบบไร้รอยต่อ ผ่านเส้นทางรถไฟไฮสปีดในไทย 2 สาย ได้แก่ ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย และ ช่วงดอนเมือง-อู่ตะเภา

ด้านนายหยาง จินจุน รองประธานบริษัท China Railway Construction Corporation หรือ CRCC กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนในประเทศไทย ในวันที่การเดินทางสะดวกมากขึ้น ย่อมเป็นสิ่งจูงใจให้โอกาสไหลเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งผลประโยชน์ยังกระจายโอกาสไปยังเพื่อนบ้านในอาเซียนและมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจในทวีปเอเซียได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามรู้สึกยินดีมากที่ได้ร่วมลงทุนระหว่างจีน-ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง

ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร กล่าวว่า โครงการนี้ต้องเริ่มการก่อสร้างภายใน 12 เดือน และเสร็จภายใน 5 ปี คือเริ่มต้นก่อสร้างในช่วงต.ค. 2563 และเปิดบริการในช่วงปลายปี 2568 ซึ่งในส่วนของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นส่วนการก่อสร้างได้เร็วที่สุดเนื่องจากได้เตรียมรองรับรถไฟความเร็วสูงไว้แล้ว ส่วนช่วงดอนเมือง-พญาไท และพื้นที่สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา น่าจะเป็นส่วนที่มอบพื้นที่ยากที่สุด

อย่างไรก็ตามด้านการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บนที่ดินมักกะสันนั้นจะมีการลงทุน 140,000 ล้านบาท เน้นพัฒนาเป็นพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ ศูนย์วิจัยฯ รวมถึงรีเทล โรงแรม เพื่อรองรับกลุ่มนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว และผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ด้านแหล่งเงินทุนจะมาจากเงินกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีธนาคารจากจีนและญี่ปุ่น รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย หากเป็นการกู้ในประเทศจะคิดเป็นค่าเงินบาท แต่ถ้านำเข้าจากต่างประเทศจะคิดเป็นเงินดอลลาสหรัฐ

สำหรับในโครงสร้างงานโยธามีสัดส่วน 65-70% ขณะที่งานระบบเทคโนโลยีอยู่ที่ 30-35% ซึ่งการแบ่งงานภายในกลุ่มพันธมิตร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) มีความสามารถในการก่อสร้างด้านโยธา ขณะที่บริษัท China Railway construction Corporation limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เชี่ยวชาญเรื่องระบบรางรถไฟความเร็วสูง การบริหารงานเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง และการจัดหาดำเนินการรถไฟ

ส่วนบริษัทจากประเทศอิตาลีมีความเชี่ยวชาญการบริการหลังจากเอาระบบรถไฟขึ้น ซึ่งพาร์ทเนอร์ทั้ง 3 หน่วยงานนั้น มีความเข้มแข็งส่วนตัวเลขสัดส่วนผู้ถือหุ้นยังไม่สามารถบอกได้

นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า ส่วนแผนผลักดันโครงการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อส่งทีมมาดูว่าโครงการนี้ควรนำเข้าระดมทุนในช่วงไหน ที่เหมาะสม

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่า รฟท.ได้รับการยืนยันจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.)เกี่ยวกับการจัดการเรื่องสาธารณูปโภคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเวนคืนพื้นที่ท่อส่งน้ำมันไม่มีปัญหา แม้ว่าในช่วงของพญาไท-ดอนเมืองมีปัญหาจริงแต่จะได้รับการดำเนินการแก้ไขตั้งแต่แรก ส่วนในการมอบพื้นที่นั้นสามารถทยอยมอบพื้นที่พร้อมการก่อสร้างให้ได้หากพื้นที่ในช่วงใดมีปัญหาจะต้องไม่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสัญญาระบุว่าจะมีการส่งมอบพื้นที่ให้ไม่เกิน 2 ปี โดยทางการรถไฟฯจะพยายามเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ให้เร็วขึ้น