posttoday

สมคิด ชวนจีนลงทุนในอีอีซี เจาะตลาด CLMVT

23 ตุลาคม 2562

เดินสายกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมณฑลกวางตุ้ง ดึงหัวเว่ยตั้งอคาเดมี่ในไทย พัฒนาคนไอที รวมถึง 2 ยักษ์เทคโนโลยีไต้หวันเตรียมย้ายฐานผลิตจากจีนมาไทย หนีเทรดวอร์

เดินสายกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมณฑลกวางตุ้ง ดึงหัวเว่ยตั้งอคาเดมี่ในไทย พัฒนาคนไอที รวมถึง 2 ยักษ์เทคโนโลยีไต้หวันเตรียมย้ายฐานผลิตจากจีนมาไทย หนีเทรดวอร์

สมคิด ชวนจีนลงทุนในอีอีซี เจาะตลาด CLMVT

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา "Strategic Partnership through the Belt and Road Initiative and the EEC" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อเชิญชวนนักลงทุนจีน ณ เมืองเซินเจิ้น มณฑลกว่างตุ้ง โดยมีนักลงทุนเข้าร่วมกว่า 500 คน ระหว่างวันที่ 21-25 ต.ค. 2562 ว่าขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่นักลงทุนจีนจะใช้ประเทศไทยเป็นประตูสู่การลงทุนและกระจายสินค้าไปสู่อาเซียนและกลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม(CLMVT)

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมต้อนรับนักลงทุนจีนเข้าไปลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะรัฐบาลกำลังปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งนอกจากการลงทุนและการตั้งสำนักงานใหญ่ในไทยแล้ว ยังช่วยกระจายตลาดเข้าสู่ CLMVT และอนุภูมิภาคอื่น ทั้งเอเชียใต้และตะวันออกกลาง

สำหรับการเดินทางไปโรดโชว์ที่เมืองกวางตุ้งครั้งนี้ ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างมณฑลกวางตุ้งกับไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งระดับรัฐและระดับเอกชน เพราะเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่รองรับนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน ทำให้ไทยมีบทบาทสร้างความเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาค CLMVT ที่มีความพร้อม ทั้งทรัพยากรมนุษย์ และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของเอเชียแทบทุกอุตสาหกรรม

"ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง แม้ปีนี้จะถูกกระทบจากสงครามการค้า แต่คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ 2.7-3.2% ส่วนดัชนีเศรษฐกิจทุกตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เข้มแข็ง และการขจัดอุปสรรคทางธุรกิจ ก็ได้รับการเลื่อนขั้นจากอันดับที่ 46 มาสู่อันดับที่ 27 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ที่ธนาคารโลกจะเปิดตัวรายงาน Doing business 2020 ซึ่งไทยมีแนวโน้มเลื่อนขั้นอันดับดีขึ้น เพราะเป็นผลมาจากการทุ่มเทจริงจังในการอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจ" นายสมคิด กล่าว

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนนักลงทุนจีนที่เชื่อมั่นและต้องการเข้าไปลงทุนในโครงการอีอีซีของประเทศไทย ซึ่งมาจากความพยายามการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งนี้ โดยรัฐบาลไทยได้เน้นการเชิญชวนภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วม และเร่งออกมาตรการจูงใจทั้งหลาย
โดยเฉพาะจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อสร้างโอกาสใหม่แห่งการเป็นพันธมิตรร่วมกันทางธุรกิจ

นอกจากนี้ นายสมคิดยังได้หารือกับนายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ยซึ่งได้ตกลงที่จะไปตั้งหัวเว่ยอคาเดมี่ เพื่อพัฒนาบุคลากรร่วมกันในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และจากการหารือกัน ทำให้ได้เห็นความต้องการของภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนเทคโนโลยีคลื่นความถี่ 5G ในประเทศไทย

"ในอนาคตปฏิเสธไม่ได้ว่า 5G จะเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมของประ เทศไปอย่างมาก ดังนั้น การเตรียมความพร้อมถือว่ามีความจำเป็น ซึ่งจากการหารือกับผู้บริหารของหัวเหว่ยว่า จะมีการประมูล 5 G ในประเทศไทยภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเขามองว่าล่าช้าเกินไปเนื่องจากหลายประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์เตรียมที่จะมีการเริ่มใช้คลื่นความถี่ 5 G ในเร็วๆนี้ซึ่งไทยควรจะมีการเร่งรัดการเปิดประ มูลคลื่นความถี่ 5 G ให้เร็วขึ้นเช่นกันซึ่งหากสามารถเปิดประมูลได้ในช่วงกลางปี 2563 ก็จะถือว่าดีมาก" นายสมคิด กล่าว

ทั้งนี้ จากการหารือกับบริษัทชั้นนำในมณฑลกวางตุ้งประเทศจีนหลายบริษัท พบว่ามีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยผู้บริหารของบริษัท Primax และบริษัท Tymphancy ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำในเรื่องเทคโนโลยีเสียงระดับต้นๆของโลกของไต้หวันซึ่งมีฐานการผลิตในจีน ได้ตัดสินใจที่จะลงทุนในประเทศไทยภายหลังจากที่ได้พิจารณาเปรียบเทียบระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆอีก 8 ประเทศ และสุดท้ายเหลือไทยกับเวียดนาม ซึ่งสุดท้ายบริษัทนี้เลือกที่จะมาลงทุนในประเทศไทย โดยระบุชัดเจนว่าการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนครั้งนี้เป็นผลจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

นายสมคิด กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ ยังมีการลงนามระหว่างสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับมณฑลกวางตุ้งถือว่าเป็นการสร้างความร่วมมือกันที่จะขยายไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคต มีสาระสำคัญ เพื่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสร้างความเชื่อมโยงพื้นที่อีอีซีกับมณฑลกวางตุ้งและ เขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) ความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้านการวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม รวมทั้งด้านการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ทั้งนี้ ได้หารือกับนายหลี่ ซี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลกวางตุ้งว่าควรมีการตั้งกลไกความร่วมมือในระดับรัฐมนตรีเพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงานเป็นระยะๆโดยคาดว่าเมื่อกลไกความร่วมมือเกิดขึ้น และมีการเชื่อมโยงอีอีซีของไทยกับ GBA ของจีน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน (one belt one road) ก็จะทำให้เอกชนของจีนเข้ามาลงทุนในไทยอีกมากเพราะเห็นถึงความเชื่อมโยงและโอกาสในการขยายการลงทุน

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว.โดยสำนักงานพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ MOU กับบริษัทหัวเว่ย ครอบคลุมความร่วมมือด้านต่างๆโดยบริษัทหัวเว่ย จะได้จัดตั้ง Huawei Academy ในประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะบุคลากรด้านดิจิทัลและ ICT

สำหรับภูมิภาคอาเซียนจะเปิดทำ การจริงในเดือนหน้า โดยก่อนหน้านี้ สวทช. และสนช.ได้ร่วมกับบริษัทหัวเว่ยประเทศไทย ในการคัดเลือกผู้ประกอบการรุ่นแรกเข้ารับการอบรมที่ไทยและจีนเป็นเวลา 6 วัน รวมทั้งจะได้ลงนาม MoU เพื่อร่วมกันพัฒนา Huawei Aca demy สำหรับการอบรมบ่มเพาะกำลังคนด้านดิจิทัลของไทย เพื่อสร้างสังคมนวัตกรรมที่ยั่งยืนร่วมกันในระยะต่อไป