posttoday

'ดีดีบินไทย' แอ่นอกยอมรับ ใกล้ถึงจุดวิกฤตองค์กร กระตุ้นพนักงานร่วมแก้ปัญหา

22 ตุลาคม 2562

"สุเมธ" ยอมรับ การบินไทยถึงจุดวิกฤติส่อเจ๊ง ขาดทุนสะสม-โดนโลว์คอสต์แย่งรายได้เส้นทางหลัก-เครื่องบินไม่พอ เร่งสั่งลดรายจ่ายเพื่อความอยู่รอด เผยเหลือเวลาไม่มากแล้ว

"สุเมธ" ยอมรับ การบินไทยถึงจุดวิกฤติส่อเจ๊ง ขาดทุนสะสม-โดนโลว์คอสต์แย่งรายได้เส้นทางหลัก-เครื่องบินไม่พอ เร่งสั่งลดรายจ่ายเพื่อความอยู่รอด เผยเหลือเวลาไม่มากแล้ว

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยระหว่างงานอบรมผู้บริหารระดับ 9 ของบริษัท ว่า ยอมรับบริษัทการบินไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งนับเป็นการยอมรับครั้งแรก วันนี้ต้องการให้พนักงานทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคครั้งนี้ ก่อนที่จะเหลือเพียงแค่เป็นตำนานของสายการบินแห่งชาติที่ต้องปิดตัวลงไป ปัจจุบันยังพอมีเวลาแก้ไขได้ แต่ก็ยอมรับว่าเหลือเวลาไม่มากแล้ว สำหรับคำกล่าวที่ว่า 'การบินไทยจะเจ๊ง' นั้น มีโอกาสที่จะไปถึงจุดนั้นแน่ๆ หากในวันนี้ยังไม่ได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากพนักงานทุกคน ซึ่งแน่นอนว่ากระแสข่าวเชิงลบในลักษณะนี้ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นลูกค้าและยอดขายตั๋วเครื่องบินของบริษัท

สำหรับปัญหาที่มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของบริษัทเรื่องหลัก คือ การโดนคู่แข่งแย่งรายได้ไปในเส้นทางบินสายหลักที่การบินไทยเคยเป็นเจ้าตลาด อาทิ เส้นทางสายเหนือ ซึ่งเคยเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด ขณะนี้ถูกสายการบินต้นทุนต่ำ (โลคอสต์ แอร์ไลน์) แย่งไปแล้วขณะที่เส้นทางยุโรป ก็เจอปัญหาค่าเงินบาทแข็งและปัญหาเรื่องเบร็กซิท

นอกจากนี้ยังประสบกับเรื่อง Disruption ทั้งเรื่องการแข่งขันอุตสาหกรรมการบินที่รุนแรง การปิดน่านฟ้าของบางประเทศ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการส่งผู้โดยสาร 5,000 คนที่ตกค้าง ตลอดจนเรื่องขาดแคลนเครื่องบิน เนื่องจากมีเครื่องบินที่ต้องจอดเพราะเครื่องยนต์เสียหลายลำ ไปจนถึงเครื่องบินที่จอดไม่ได้ใช้งานส่งผลให้วางแผนการบินเพื่อสร้างกำไรไม่ได้เท่าที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการด้อยค่าทรัพย์สินและเรื่องราคาน้ำมันอีกด้วย

"การแข่งขันในปีนี้รุนแรงมากขึ้นจนทำให้ตัวเลขรายได้และกำไรติดลบ ฝ่ายบริหารได้ประชุมกันทุก 2 สัปดาห์ ครั้งละไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมงเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะการบินไทยอยู่ใน วิกฤติจริงๆ แต่ตนขอยืนยันว่าจะไม่ยอมแพ้ แม้สถานการณ์จะน่ากลัว ปีหน้าต้องเดิมพันสู้กันเต็มที่ แต่ถ้าพนักงานยังไม่ตื่น และไม่ทำอะไรจริงจัง ก็หมดเวลาที่จะสู้กันแล้วเพราะเหลือเวลาน้อยมากวันนี้ไม่มี Comfort Zone ทุกคนตายหมดถ้าเรือล่ม"นายสุเมธกล่าว

นายสุเมธ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีแนวทางการลดภาระค่าใช้จ่าย คือการลดเงินเดือนพนักงานระดับบริหาร ซึ่งไม่กระทบกับพนักงานระดับล่าง พร้อมกับมอบนโยบายให้ทุกฝ่ายไปปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น Zero Inventory ของฝ่าย DC (ฝ่ายครัวการบิน) เป็นต้น ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันทำให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เชื่อว่าถ้าทุกคนช่วยกัน ทุกคนสามารถช่วยด้วยการปรับปรุงกระบวนการทำงาน แต่ไม่มีรางวัลให้เพราะรางวัลสูงสุดคือความอยู่รอดของบริษัท

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การบินไทยประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักในรอบปี 2562 ซึ่งพบว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มียอดขาดทุนสะสมไปแล้ว 6,438 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่าตลอดปีนี้จะขาดทุนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดขาดทุนสะสมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2562) รวม 36,000 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขทุนเหลืออยู่ที่ระดับ 30,000 ล้านบาท

ด้านยอดขาดทุนสะสมรวมทั้งสิ้นสูงถึง 280,000 ล้านบาท หากลงทุนซื้อเครื่องบินอีก 100,000 ล้านบาท ก็คงจะมีหนี้สินต่อทุน (D/E) พุ่งไปมากกว่า 12 เท่า ส่งผลให้สถานะทางการเงินของการบินไทยอยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างอึดอัด จึงมีแผนที่จะเสนอขอเงินกู้จากรัฐบาลอีก 50,000 ล้านบาทเพื่อแบ่งเป็น ทุนหมุนเวียนในการดําเนินกิจการทั่วไป วงเงิน 32,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องวงเงิน 24,800 ล้านบาท

นอกจากนี้ในอนาคตจำเป็นต้องมีแนวทางการเพิ่มทุนหรือจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อทำการจัดซื้อเครื่องบินใหม่อีก 38 ลำ วงเงิน 156,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามพบว่าปัญหาค่าใช้จ่ายหลักที่การบินไทยยังประสบอยู่ในตอนนี้คือค่าจ้างบุคลากร ปัจจุบันการบินไทยมีพนักงานมากกว่า 20,000 คน ซึ่งถือเป็นสายการบินที่มีพนักงานเกือบจะมากที่สุดในโลก แต่กลับพบว่าในสภาวะขาดทุนสะสมติดต่อกันหลายปีแต่บริษัทยังต้องจ่ายค่าจ้างบุคลากรเท่าเดิม