posttoday

เร่งฟื้นภาคเกษตรจมน้ำ หลังพิษโพดุล ทำลายพื้นที่เสียหาย 2,027 ล้านบาท

22 ตุลาคม 2562

สศก.ประเมินพื้นที่เกษตรจ.อุบลฯเสียหายจากน้ำท่วม กว่า 2 พันล้านบาท เดินหน้าส่งเสริมอาชีพแนะปลูกพริก-แตงกวา-ถั่วฝักยาว ระหว่างรอนาปี

สศก.ประเมินพื้นที่เกษตรจ.อุบลฯเสียหายจากน้ำท่วม กว่า 2 พันล้านบาท เดินหน้าส่งเสริมอาชีพแนะปลูกพริก-แตงกวา-ถั่วฝักยาว ระหว่างรอนาปี

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยพายุโพดุล (ช่วงเกิดภัยตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม – 3 กันยายน 2562) ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ว่า มีพื้นที่เสียหาย 23 อำเภอ โดยด้านพืช ได้รับความเสียหายรวม 371,853 ไร่ ด้านปศุสัตว์ ได้รับความเสียหาย 25,425 ตัว และด้านประมง บ่อปลาและกระชัง ได้รับความเสียหาย 5,569.80 ไร่ 5,854 ตารางเมตร(ตร.ม.)
ซึ่งผลการประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประสบอุทกภัยของจังหวัดอุบลราชธานี ภาพรวมคิดเป็นมูลค่า 2,027.20 ล้านบาท

ทั้งนี้แยกเป็น ด้านพืช ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว มันสำปะหลัง ยางพารา และอื่น ๆ คิดเป็นมูลค่า 1,885.53 ล้านบาท ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ สุกร ไก่ เป็ด และอื่นๆ 2.04 ล้านบาท และ ด้านประมง ได้แก่ ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นที่เลี้ยงในบ่อดินและสัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง คิดเป็นมูลค่า 139.63 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้เร่งให้ความช่วยเหลือ โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินพ.ศ. 2556 ตามพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริงไม่เกินรายละ 30 ไร่ ในอัตรา ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท และดำเนินกิจกรรม“โครงการจิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย” โดยจัดหน่วยเคลื่อนที่สำรวจความเสียหาย ช่วยเหลือให้คำแนะนำ การฟื้นฟู แจกเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ให้แก่เกษตรกร

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ 576.287 ล้านบาท ให้สหกรณ์ละไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 1 ปี เพื่อนำไปช่วยฟื้นฟูอาชีพให้กับสมาชิก ขณะที่ ครม. ได้อนุมัติงบให้กระทรวงมหาดไทย ช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัย 29 จังหวัด วงเงิน 7,642 ล้านบาท ครัวเรือนละ 5,000 บาท รวมทั้งดำเนินการปรับปรุงอัตราการชดเชยความเสียหายให้แก่เกษตรกร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง

นายระพีภัทร์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งส่งเสริมให้เกษตรกรกลับมาประกอบอาชีพได้อย่างรวดเร็ว โดยสนับสนุนให้ปลูกพืชสำหรับบริโภคในครัวเรือน เพื่อลดรายจ่ายและสร้างรายได้ระหว่างรอทำนาในฤดูนาปรังที่จะถึงในอีกประมาณ 2 เดือนพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวระยะสั้นประมาณ 45 วัน ที่ให้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) /ไร่/รอบการผลิต ค่อนข้างดีและมีตลาดรองรับแน่นอน คือ ขึ้นฉ่าย ผลตอบแทนสุทธิ 33,670 บาท/ไร่ คะน้า ผลตอบแทนสุทธิ 23,249 บาท/ไร่ และ ผักบุ้ง ผลตอบแทนสุทธิ 6,711 บาท/ไร่

สำหรับพืชทางเลือกอื่นที่ต้องใช้ระยะเวลาเพาะปลูกยาวขึ้น เหมาะสำหรับการเพาะปลูกก่อนฤดูทำนาปี (พฤษภาคม) และให้ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่ต่อรอบดี คือ ถั่วฝักยาว 41,641 บาท/ไร่ แตงกวา 8,958 บาท/ไร่ พริก 117,549 บาท/ไร่ ผักชีฝรั่ง 10,883 บาท/ไร่ และ แคนตาลูป 36,030 บาท/ไร่ เกษตรกรสามารถขายสินค้าให้กับพ่อค้าในท้องถิ่นรับซื้อที่สวน หรือที่ตลาดวารินเจริญศรี (แหล่งขายส่งพืชผัก) และตลาดเทศบาลวารินชำราบ และสามารถขอคำปรึกษา คำแนะนำในการปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้หลังน้ำลด ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด

การแก้ปัญหาในระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของพืชทางเลือก เพื่อเป็นข้อมูล ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตตามนโยบายบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม(Zoning by Agri-Map)เช่น มันสำปะหลังอินทรีย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่น่าสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งยังสามารถใช้พื้นที่ทำนาปลูกได้ด้วย

ทั้งนี้ จากการสำรวจ พบว่า ภาคเอกชนต้องการรับซื้อผลผลิตจำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ยังผลิตได้ไม่เพียงพอ โดยภายในปี 2565 ภาคเอกชนต้องการขยายพื้นที่ปลูก มันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้ประมาณ 80,000 ไร่ แต่ปัจจุบัน ปี 2562 เกษตรกรมีความสามารถในการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์เพียง 2,000 ไร่ เท่านั้น ขณะที่ภาครัฐยังได้ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน เช่น สร้างพื้นที่แก้มลิง เพื่อรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก และการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเพาะปลูกข้าวเพื่อให้ชาวนาสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ก่อนน้ำจะท่วม