posttoday

ส่งออกเดือนก.ย.วูบอีก คาดปีนี้ติดลบ 1% แนะเอกชนประกันความเสี่ยงค่าเงิน

21 ตุลาคม 2562

'พาณิชย์' ต้องเร่งเครื่องส่งออกปลายปี หลัง 9 เดือนติดลบแล้ว 2.11% เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผลพวงเทรดวอร์ เบร็กซิท ค่าเงินบาทแข็ง ยอรับส่งออกปีนี้ติดลบ 1%

'พาณิชย์' ต้องเร่งเครื่องส่งออกปลายปี หลัง 9 เดือนติดลบแล้ว 2.11% เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผลพวงเทรดวอร์ เบร็กซิท ค่าเงินบาทแข็ง ยอรับส่งออกปีนี้ติดลบ 1%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือน ก.ย.2562 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 20,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 1.39% แต่เป็นการปรับลดลงในอัตราที่ชะลอตัว ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,206 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบง 4.24% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,275.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ภาพรวม 9 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ย.) การส่งออกมีมูลค่ารวม 186,571 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 2.11% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวม 179,190.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 3.68% แต่ยังเกินดุลการค้า 7,381.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเมินการส่งออกในปีนี้เฉลี่ยน่าจะติดลบที่ระดับ 1%

ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกไม่ขยายตัวเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงของความผันผวนอันเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจากสหภาพยุโรปเพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการอุดหนุนแอร์บัส และสถานการณ์เบร็กซิทที่ยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำและเงินบาทที่แข็งค่า เป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี ผู้ส่งออกควรลดผลกระทบความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยการทำประกันความเสี่ยงหรืออาจพิจารณาทำสัญญาซื้อขายระยะยาว

ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา การส่งออกไทยมีจุดเด่นในการกระจายตัวของสินค้ากลุ่มใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอนาคต อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน เพิ่มเติมจากสินค้าส่งออกหลักดั้งเดิม

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ช่วงที่เหลือของปี 2562 กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าเร่งขยายการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญและอุตสาหกรรมที่เติบโตดี โดยสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจภาคเอกชนในตลาดศักยภาพ อาทิ สินค้ามันสำปะหลังและมะพร้าวน้ำหอม ในตลาดจีน ไม้ ยางพารา และเฟอร์นิเจอร์ ในตลาดอินเดีย นอกจากนี้ มีแผนเดินหน้าเปิดตลาดใหม่โดยมีกำหนดการเดินทางไป ตุรกี ผลักดันการส่งออกยาง ขณะที่เริ่มเจรจาฟื้นฟูการส่งออกข้าวไทยในอิรัก ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากและคาดว่าจะสามารถลงนามเอ็มโอยู ระหว่างกันได้ในไม่ช้า

อย่างไรก็ตามในภาวะที่ทุกประเทศผู้ส่งออกกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการค้า ทางกระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรทางการค้า เพื่อขยายฐานตลาดส่งออกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าให้การเจรจาอาร์เซ็ปสำเร็จภายในสิ้นปี 2562 และเร่งผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เช่น เอฟทีเอ ไทย-ตุรกี ตั้งเป้าจะสรุปผลได้ในต้นปี 2563 และเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาเอฟทีเอในอนาคต ได้แก่ ไทย-สหภาพยุโรป เป็นต้น