posttoday

"จุรินทร์"เตือนสติผู้ประกอบการ มีจรรยาบรรณการจัดทำบัญชี

20 ตุลาคม 2562

"จุรินทร์" เดินหน้ายกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้ทันสมัยเป็นรากฐานสังคม รักษาจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ ย้ำการทำ CSR ต้องเพื่อสังคมมากกว่าบริษัท

"จุรินทร์" เดินหน้ายกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้ทันสมัยเป็นรากฐานสังคม รักษาจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ ย้ำการทำ CSR ต้องเพื่อสังคมมากกว่าบริษัท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่าง เป็นประธานเปิดงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ของสมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากรแห่งประเทศไทย ว่า กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการพัฒนาและผลักดันเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งโดยปรับเปลี่ยนจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ดั้งเดิม(Tradition SME)ไปสู่ผู้ประกอบการที่เน้นนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น (Smart Enterprise )

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจเกิดความตระหนัก และมีจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจในการจัดทำบัญชี และการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงลดต้นทุนการประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ผมจึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพธุรกิจเอสเอ็มอี ของประเทศไทยให้สอดรับกับยุคดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง

การประกอบธุรกิจเพื่อสังคม CSR นั้นต้องแตกต่างจากธุรกิจปกติ แต่ต้องทำเพื่อสังคมเข้มข้นเป็นรูปธรรมกว่า เพราะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่านิติบุคคลธรรมดาทั่วไป ดังนั้นต้องนำสิทธิพิเศษนั้นไปแลกกับการทำเพื่อสังคม  ที่ผ่านมาได้มีประกาศที่ลงนามไปทั้งหมด 4 ฉบับ 1.ประกาศเรื่องกำกับดูแลกิจการที่ดีลงนามเองเมื่อ 14 ก.ย.2562 2.ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เรื่องกำหนดรายการอื่นเพื่อสังคม 3.ประกาศเรื่องระยะเวลาดำเนินการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม 24 ก.ย. 2562 4.ประกาศเรื่องเงื่อนไขการนำกำไรไปใช้เพื่อสังคมต้องเป็นไปตามเงื่อนไข พรบ.วิสาหกิจเพื่อสังคม มาตรา5

สำหรับการขอหนังสือรับรองนิติบุุคคลผ่านทางธนาคาร? หรือ? Dbd? e-Certificate สามารถดำเนินการได้แล้ว 10 ธนาคาร และสามารถนำส่งงบการเงินประจำปีทางอิเล็กทรอนิกได้แล้ว โดยเมื่อปี 2561 มีการนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ถึง 91% และขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำลังพัฒนาเรื่องการยืนยันตัวตนผ่านทางออนไลน์ เรื่องขอเพิ่มอำนาจทีเอตรวจสอบรับรองบัญชีมากกว่าเดิมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีนโยบายเพราะมีทั้งบวกและลบแต่สิ่งที่มีนโยบายคือทุกฝ่ายต้องมีความเห็นสอดคล้องกัน ดังนั้นควรจัดเวทีรับฟังความเห็นทุกสมาคม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ตกผลึกว่าสุดท้ายควรเป็นอย่างไร เมื่อสรุปความเห็นแล้วจึงค่อยดำเนินการ

ด้าน ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย นายกสมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากรแห่งประเทศไทยว่า การประชุมใหญ่สามัญสมาชิกในวันนี้ถือเป็นการครบรอบ 12 ปี ของการก่อตั้งสมาคมซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากกว่า 1,600 ท่าน ประกอบด้วยผู้สอบบัญชีภาษีอากร นักบัญชีผู้ประกอบการ และกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรจาก 4 สมาคมซึ่งถือเป็นการรวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและยกระดับวิชาชีพด้านบัญชี ซึ่งมีทั้งผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และผู้สอบบัญชีภาษีอากร เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่ร่วมช่วยกันส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี