posttoday

โชว์แผนลงทุน5 แสนล้าน แลนด์มาร์คคลองเตย จ่อเปิดสัมปทานเอกชน 60 ปี

17 ตุลาคม 2562

กทท. คลอดแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือคลองเตย เงินลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท ตั้งเป้าเนรมิตเป็นแลนด์มาร์คใหม่กรุงเทพ วางแนวทางเปิดสัมปทานให้เอกชน 60 ปี กวาดรายได้ทะลุ 10 ล้านล้านบาท

กทท. คลอดแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือคลองเตย เงินลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท ตั้งเป้าเนรมิตเป็นแลนด์มาร์คใหม่กรุงเทพ วางแนวทางเปิดสัมปทานให้เอกชน 60 ปี กวาดรายได้ทะลุ 10 ล้านล้านบาท

นายสมชาย เหมทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ เปิดเผยว่า กทท.ได้จัดทำแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือคลองเตยให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพ รวมพื้นที่ 2,300 ไร่ ส่งเสริมการสร้างรายได้ในรูปแบบใหม่ไปพร้อมกับส่งเสริมการท่องเที่ยว คาดว่าจะสรุปแผนแม่บทฉบับสุดท้าย ได้ภายในเดือนต.ค. ก่อนเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบในหลักการควบคู่กับการก่อตั้งบริษัทลูกด้านบริหารสินทรัพย์ดังกล่าว เพื่อเริ่มต้นการลงทุน

สำหรับแปลงพื้นที่ในการพัฒนาแบ่งเป็น 4 แปลง ประกอบด้วย แปลง A อาคารสำนักงานและที่พักอาศัยแบบ Smart Community แปลง Bพื้นที่ Smart Port ท่าเรืออัจฉริยะและโลจิสติกส์ทางน้ำ แปลง C พื้นที่เชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ ร้านค้าปลีก โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และพื้นที่ริมแม่น้ำ แปลง D เป็นคลังสินค้าและศูนย์กีฬาครบวงจร(Sport Complex)

ด้านนายวรวัสส์ วัสสานนท์ รองผู้จัดการโครงการศึกษาแผนแม่บท กล่าวว่า พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพเป็นหนึ่งในที่ดินศักยภาพมากที่สุดในประเทศ จึงมีแนวคิดพัฒนาในรูปแบบ ประตูสู่สยาม หรือ Siamgate เป็นย่านการค้าระดับโลก ผสมผสานที่อยู่อาศัยไฮเอนด์และศูนย์กลางโลจิสติกส์ ตลอดจนเป็นศูนย์ประชุมนานาชาติด้านไมซ์ โดยมีระยะเวลาสัมปทานให้เอกชนในการเช่าที่ดินราว 60 ปี คาดจะสร้างรายได้รวม 10 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้กทท.จะได้ผลตอบแทนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ตลอดระยะเวลาสัมปทาน ขณะที่เงื่อนไขค่าเช่าที่จะปรับทุก 3 ปี หรือปรับขึ้นครั้งละ 10%

ด้านการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวนั้นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4.92 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ระยะ 1-5 ปีแรก 9.7 หมื่นล้านบาท และระยะ 5-20 ปี อีก 3.95 แสนล้านบาท

สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่จะมีการลงทุนในช่วง 5 ปีแรก ประกอบด้วย 1.พื้นที่เชิงพาณิชย์แบบ Mixed use และ การพัฒนา creative town วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท 2.พัฒนา smart community วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท 3. อาคารสำนักงานการท่าเรือ 1.4 หมื่นล้านบาท 4.ทางเดินลอยฟ้า Skywalk วงเงิน 5,000 ล้านบาท 5.ร้านค้าปลีก วงเงิน 4,000 ล้านบาท
6.รถไฟฟ้ารางเบา วงเงิน 3,000 ล้านบาท 7.Medical Hub วงเงิน 1,500 ล้านบาท

ขณะที่โครงการลงทุนสำคัญในระยะ 5-20 ปี ประกอบด้วย 1.พื้นที่เชิงพาณิชย์แบบ Mixed use และ การพัฒนา creative town เฟส 2 วงเงิน 1.21 แสนล้านบาท 2.พื้นที่โรงแรมและศูนย์ประชุมนานาชาติ วงเงิน 8.3 หมื่นล้านบาท 3.พื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อการอยู่อาศัย (Residential Area) วงเงิน 7.3 หมื่นล้านบาท 4.พื้นที่เขตธุรกิจและย่านการค้า (Business District) วงเงิน 7.3 หมื่นล้านบาท 5.พื้นที่สปอร์ตคอมเพล็กซ์ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท 6.ร้านค้าปลอดภาษี Duty Free

ดร. กีรติ กิจมานะวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการแผนแม่บท กล่าวว่า ด้านจัดการระบบจราจรภายในพื้นที่นั้นจะมีการลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท ประกอบ ด้วย การก่อสร้างทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk)และทางจักรยานในช่วง 5 ปีแรก วงเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท เน้นให้เป็นพื้นที่ปลอดยานพาหนะส่วนบุคคลเพื่อแก้ปัญหาจราจร

นอกจากนี้จะมีการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา วงเงินมากกว่า 3,000 ล้านบาท เป็นระบบขนส่งเชื่อมต่อพื้นที่ภายในกับระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่มีทั้งสิ้น 12 สถานี โดยมีสถานีต้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินที่สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต และสถานีปลายทางที่รถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีพระโขนง นอกจากนี้จะมีการขยายถนนโดยรอบท่าเรือกรุงเทพ ตลอดจนก่อสร้างทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางด่วนบางนา-อาจณรงค์ (S1)ระยะทาง 2 กม. ลงทุน 1,500 ล้านบาท