posttoday

“หอการค้า”ชี้สงครามการค้า-บาทแข็งชุดจีดีพีเหลือ2.8%

17 ตุลาคม 2562

“หอการค้า” ลุ้นชิมช้อปใช้ เฟส 2 ออกฤทธิ์ ดันจีดีพีโตเพิ่ม 0.2% พร้อมหั่นจีดีพีเอสเอ็มอีแหลือ 3-3.5% หลังเศรษฐกิจชะลอ

“หอการค้า” ลุ้นชิมช้อปใช้ เฟส 2 ออกฤทธิ์ ดันจีดีพีโตเพิ่ม 0.2% พร้อมหั่นจีดีพีเอสเอ็มอีแหลือ 3-3.5% หลังเศรษฐกิจชะลอ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิบการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า คาดการณ์เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2562 จะขยายตัวได้ 2.8% เนื่องจากมีปัจจัยกดดันจากปัญหาสงครามการค้าที่ยังไม่คลี่คลาย ปัญหา Brexit ที่ส่งผลกระทบกดดันภาคการส่งออกของไทยอย่างมาก สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าที่เริ่มมีผลกดดันภาคการท่องเที่ยว โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. ก.ย.) จีดีพีขยายตัวได้ 2.6%

ทั้งนี้ หากต้องการให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ถึง 3% เศรษฐกิจไตรมาส 4/2562 ต้องขยายตัวอย่างต่ำ 4% โดยในช่วงที่เหลือ 2 เดือนสุดท้ายของปี (พ.ย.-ธ.ค.) รัฐบาลต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบอย่างน้อย 3-5 หมื่นล้านบาท ผ่านมาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 2 รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อให้กระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อ และการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น

“โอกาสที่จีดีพีไทยจะเติบโตได้ 3% มีอยู่ 1 ใน 3 ขณะที่จีดีพีที่ระดับ 2.8% มีโอกาสเกิดขึ้น 2 ใน 3 แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะออกมาว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้มากแค่ไหน” นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับมาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 2 เชื่อว่าจะให้ผลดีกับเศรษฐกิจมากกว่าเฟสแรก เพราะแฟสแรกประชาชนที่ไปลงทะเบียนเพื่อหวังได้รับสิทธิ์ 1,000 บาท ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อรับเงินแคชแบ็ก 15% ยังไม่มีแรงจูงใจพอ แต่ในเฟส 2 มองว่าประชาชนที่ลงทะเบียนส่วนใหญ่จะมีการวางแผนท่องเที่ยวจริง ทำให้มีเม็ดเงินหมุนลงสู่ระบบ 2-3 หมื่นล้านบาท ช่วยสนับสนุนจีดีพีได้ 0.1-0.2%

“หอการค้า”ชี้สงครามการค้า-บาทแข็งชุดจีดีพีเหลือ2.8%

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมตัวเลขจีดีพีภาคเอสเอ็มอีในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 3-3.5% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.5-4% เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง กำลังซื้อที่ลดลง แต่มองว่าในระยะต่อไปจะปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการประกันรายได้ของเกษตรกรที่จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อภายในประเทศ

ทั้งนี้ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,234 ตัวอย่างทั่วประเทศ เกี่ยวกับดัชนีสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอี และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ในไตรมาส 3/2562 พบว่า มีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 โดยดัชนีสถานการณ์ธุรกิจในไตรมาสที่ 3/2562 อยู่ที่ 41.5 ลดลง 1.2 จุด จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนไตรมาสที่ 4/2562 คาดว่าจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.9 ส่วนดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ในไตรมาสที่ 3/2562 อยู่ที่ระดับ 47.8 ลดลง 1.0 จุด จากไตรมาสก่อนหน้า และคาดว่าในไตรมาสที่ 4/2562 จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 48.1สำหรับดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ ไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 51.1 ลดลง 0.7 จุด จากไตรมาสก่อนหน้า และคาดว่าในไตรมาสที่ 4/2562 จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.4

“ไตรมาสที่ 4/2562 เชื่อว่าสถานการณ์ธุรกิจของเอสเอ็มอีจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของภาคการท่องเที่ยว ก็จะส่งผลดีต่อการทำธุรกิจ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการชิมช้อปใช้ และมาตรการประกันรายได้ภาคเกษตรต่าง ๆ จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อให้พลิกฟื้นกลับมาเล็กน้อย แต่ไม่ถึงขั้นดดดเด่น” นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องการให้ภาครัฐบาลเข้ามาสนับสนุนด้านสินเชื่อ เช่น การปรับลดข้อจำกัดในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเข้าถึงให้ง่ายขึ้น ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การมีมาตรการหรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพ ด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี เช่น สนับสนุนเทคโนโลยี ช่องทางการค้าแก่เอสเอ็มอี ด้านการตลาด เช่น กลยุทธ์ส่งเสริมด้านการโฆษณา ด้านภาษี เช่น การลดอัตราภาษี ปรับโครงสร้างภาษีให้อยู่ในระดับเหมาะสม และด้านการท่องเที่ยว เช่น ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวในประเทศ

นางจงรักษ์ โปลิตานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเอสเอ็มอีในช่วงไตรมาส 4/2562 จะขยายตัวได้ดีขึ้น โดย ธพว. เตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้รอบรับผู้ประกอบการในการเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงธุรกิจ หรือเป็นทุนหมุนเวียน เช่น สินเชื่อนิติบุคคล555 วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ย 7 ปี เริ่มต้น 0.479% ต่อเดือน เป็นต้น