posttoday

"ตลาดจริงใจ" ลุยต่อสร้างความยั่งยืนเกษตรกรสุราษฎร์ฯ

16 ตุลาคม 2562

ท็อปส์ มาร์เก็ต เดินหน้าเปิดตลาด จริงใจ Farmers' Market สาขาแรกในภาคใต้ หวังสร้างความยั่งยืนชุมชนเกษตรกรท้องถิ่น ประเดิมก่อน 186 ครัวเรือน

ท็อปส์ มาร์เก็ต เดินหน้าเปิดตลาด จริงใจ Farmers' Market สาขาแรกในภาคใต้ หวังสร้างความยั่งยืนชุมชนเกษตรกรท้องถิ่น ประเดิมก่อน 186 ครัวเรือน

จริงใจ Farmers’ Market ภายใต้โครงการ "เซ็นทรัล ทำ" (Central Tham) ของธุรกิจในกลุ่มเซ็นทรัล มีวัตถุประสงค์ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้เกษตรกรไทย โดยท็อปส์ มาร์เก็ต ทำหน้าที่เฟ้นหาเกษตรกร ให้คำปรึกษาด้านการผลิตและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการค้า

ปัจจุบัน จริงใจ Farmers’ Market เปิดไปแล้ว 9 สาขาใน 8 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี 2 สาขา เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น พะเยา อุบลราชธานี พิจิตร สิงห์บุรี โคราช จังหวัดละ 1 สาขา และสาขาที่ 10 ในจังหวัดสุราษฏร์ธานี

สำหรับ จริงใจ Farmers’ Market สุราษฎร์ธานี หรือ ตลาดจริงใจ สุราษฎร์ เปิดให้บริการบริเวณชั้น 1 หน้าท็อปส์ มาร์เก็ต ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา สุราษฎร์ธานี โดยเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรในชุมชนนำสินค้ามาจำหน่ายด้วยตนเอง ทั้งผักพื้นบ้านและผลไม้นานาชนิดที่เกษตรกรตั้งใจปลูก ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี ปลูกตามฤดูกาล บางชนิดได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เช่น เงาะโรงเรียนนาสาร รวมทั้งหมด 32 ร้านค้า จาก 186 ครัวเรือน

ตลาดจริงใจฯ อีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

นายเชี่ยวชาญ แก้วอำรัตน์ ประธาน สหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด กล่าวว่า เงาะโรงเรียนนาสาร ผลไม้ที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI การันตีแหล่งผลิตต้นกำเนิดใน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ นาสาร บ้านนาเดิม และเวียงสระ ที่ให้รสชาติหวาน กรอบ เนื้อร่อนไม่ติดเมล็ด เฉพาะเงาะโรงเรียนนาสารของสมาชิกปลูกได้กว่า 23,000 ตันต่อปี ส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย จีน และ ดูไบ

นอกจากเงาะนาสาร ซึ่งเป็นผลไม้ตามฤดูกาลแล้ว ทางกลุ่มยังปลูกทุเรียน ลองกอง มังคุด และกล้วยหอมทองคุณภาพส่งออกไปญี่ปุ่นมาแล้ว 4-5ปี ควบคู่ไปกับปลูกผักพื้นบ้านตามฤดูกาล เพื่อรับประทานและจำหน่ายตลอดทั้งปีเป็นรายได้เสริม ซึ่งสมาชิกในกลุ่มจะนำทั้งผักและผลไม้ตามฤดูกาลไปจำหน่ายที่ตลาดจริงใจ เป็นอีกหนึ่งช่องทางขายสำคัญของเกษตรกรที่นี่

ด้าน นางสาวกษิรา เกษมสันต์ เลขานุการ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ PGS สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ผลผลิตของเครือข่าย PGS แบ่งออกเป็น ผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง ฝรั่ง และผักพื้นบ้าน 40-50รายการ ตามฤดูกาลยึดแนวทางเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักผลไม้ท้องถิ่นตามฤดูกาล เพราะทนต่อโรคไม่ต้องใช้สามารถเคมี ให้รสชาติดีตามธรรมชาติ

เมื่อบวกกับความรู้ใหม่ๆ ที่ตอนนี้หาอ่านหาฟังง่ายกว่าในอดีต คนรุ่นใหม่สามารถเสิร์ชหาข้อมูล เข้าถึงแหล่งต่างๆ นำมาแชร์ให้กับผู้ใหญ่ ทั้งเรื่องของการพัฒนาปรับปรุงดิน การกำจัดศัตรูพืช บวกกับเกษตรทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียง พบว่าช่วยลดต้นทุนได้มาก ผลผลิตเพิ่มขึ้น ยิ่งเป็นออร์แกนิค ยิ่งสร้างจุดขาย

"เราสร้างทีมแม่ค้า ทีมละ 2 คน นำสินค้าไปขายที่ตลาด เขามีความรู้เล่าให้ลูกค้าฟังที่มาที่ไปของผักผลไม้ได้ สร้างรายได้และพึ่งพาตัวเองได้ ที่สำคัญ คือ ได้สุขภาพแข็งแรง มีเพื่อนเพิ่ม มีเครือข่ายเพิ่ม ในเครือข่ายเราแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยประมาณ 10 -15 คน เพื่อให้ทุกคนดูแลและตรวจสอบกันทั่วถึง มีการประชุมกันภายในกลุ่มเดือนละครั้ง นอกรอบก็พูดคุยกันตลอด ปรึกษากันทั้งภายในกลุ่มระหว่างกลุ่ม และมีประชุมใหญ่ที่ทุกคนต้องมาเจอกันปีละครั้ง" นางสาวกษิรา กล่าว

นายวาริน สังข์ปล้อง ประธาน วิสาหกิจชุมชนข้าวชุมชน (แบรนด์ ข้าวลุงริน) กล่าวว่า วิสาหกิจแห่งนี้เป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรสูงอายุ ทุกคนมีอายุ 60ปีขึ้นไป ส่วนเด็กสุดอายุ 57ปี รวมกลุ่มกันเมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน เพื่อหาช่องทางขายข้าว เนื่องจากตอนนั้นราคาข้าวตกต่ำ การรวมกลุ่มทำให้ชาวนาที่นี่ได้มีงานทำ ได้ออกมาพบปะพูดคุยกัน ทุกคนล้วนทำนาตามแรงกำลังที่ทำได้ รวมพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 60ไร่ ปลูกปีละสองครั้ง ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวสังข์หยด ข้าวไรซ์เบอร์รี่ กข 43 ผ่านมาตรฐาน GAP สีข้าวและแพ็คเอง วางขายทั่วไป รวมถึงส่งให้โรงพยาบาลในจังหวัด

โดยวิสาหกิจที่นี่ พยายามลดต้นทุนและหันไปเลี้ยงเป็ดเพื่อกำจัดศัตรูข้าว โดยเฉพาะหอยเชอร์รี่ จนเป็ดให้ไข่จำนวนมาก สามารถต่อยอดไปเป็นวิสาหกิจชุมชนไข่เค็ม อสม.ไชยา สร้างรายได้จากการทำไข่เค็มอีกต่อหนึ่ง