posttoday

ไฟเขียวแผนส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างไฮสปีด 3 สนามบิน ยื้อนานสุด 4 ปี

16 ตุลาคม 2562

บอร์ดอีอีซี เคาะแผนส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดอีอีซี ขยายเวลานานถึง 4 ปี ช่วงดอนเมือง-พญาไท ขณะที่สหภาพรฟท.ยังหวั่นส่งมอบพื้นไม่ทัน ห่วงเกิดค่าโง่ยุคใหม่

บอร์ดอีอีซี เคาะแผนส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดอีอีซี ขยายเวลานานถึง 4 ปี ช่วงดอนเมือง-พญาไท ขณะที่สหภาพรฟท.ยังหวั่นส่งมอบพื้นไม่ทัน ห่วงเกิดค่าโง่ยุคใหม่

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) ว่าที่ประชุมได้อนุมัติแผนส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีอีซี แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ
1.สถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กิโลเมตร (กม.)ซึ่งเป็นช่องที่ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทันทีหลังจากที่มีการลงนาม

2.สถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 170 กม. จะเร่งส่งมอบพื้นที่ 1 ปี 3 เดือน หรือขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ปี หลังลงนาม และ3.สถานีดอนเมือง-พญาไท 22 กม. จะเร่งรัดส่งมอบพื้นที่ 2 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 4 ปีหลังลงนาม ส่วนงบประมาณคาดว่าจะชัดเจนภายในเดือนพ.ย.นี้

สำหรับการยื้อปรับปรุงสาธาณูปโภค ประกอบไปด้วย 1.แก้จุดตัดเสาไฟฟ้าแรงสูง 230 จุด 2. ย้ายอุโมงค์ระบายน้ำ1 จุด 3.ย้ายท่อน้ำมัน 4 กม. 4. ย้ายเสาไฟฟ้าลงใต้ดิน 450 เมตร และ5.ย้ายเสาโทรเลขรฟท. 80 กม. ซึ่งมี 8 หน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการรื้อย้ายครั้งนี้ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง ปตท. บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (เอฟพีที) และบริษัทท่อปิโตรเลียม จำกัด

“นี่ถือเป็นครั้งแรกในไทยที่มีแผนส่งมอบที่ดิน ระยะเวลา และงบประมาณที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาให้เอกชนไปเจรจากับหน่วยงานโดยตรงได้บ้างไม่ได้บ้าง ยืนยันส่องมอบพื้นที่ได้แน่ แต่ถ้าไม่ได้ก็จะไม่เป็นปัญหา หรือเป็นเหตุให้เอกชนบอกเลิกสัญญา เพราะสามารถขยายเวลาได้ และไม่จำเป็นต้องให้เงินชดเชยเ เพราะตามเอกสารสัญญา Request for Proposal(RFP)เงื่อนไขชัดเจนว่ามีความเสี่ยง ”นายคณิศ กล่าว

ทั้งนี้ยืนยันว่า ในส่วนของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้ง 2 คนเป็นผู้ที่ทำงานและอยากให้เกิดการลงนามโครงการระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH)ไม่ได้อยากให้มีการล้มเลิกโครงการอย่างที่ปรากฎเป็นข่าว

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่า จากนี้จะต้องนำรายละเอียดแผนการส่งมอบพื้นที่ไปแนบท้ายในเอกสารสัญญา ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตาม RFP ซึ่งเป็นสัญญาผู้จ้างกับผู้รับจ้าง ซึ่งยังมั่นใจว่าในวันที่ 25 ต.ค. 2562 จะมาสามารถลงนามในสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ได้แน่นอน

ขณะที่ด้านสหภาพรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) ระบุว่า การส่งมอบพื้นที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ตามกรอบเวลา 15 เดือนตามที่กำหนดแน่นอนและจะเป็นช่องทางให้เอกชนฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจาก รฟท.ในอนาคต ส่งผลให้โครงการนี้จะเป็นค่าโง่ชิ้นใหม่ ดังนั้น จึงได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อร่วมคัดค้านโครงการ

อย่างไรก็ตามพื้นที่ซึ่งเป็นปมส่งมอบไม่ได้จนทำให้หลายโครงการพัฒนาได้ช้าและยกเลิกจนมีค่าโง่มาแล้ว คือช่วงดอนเมือง-พญาไท ดังนั้นการวางกรอบเวลาส่งมอบถึง 4 ปีเป็นการตอกย้ำปัญหาในการส่งมอบพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่กรอบเวลาก่อสร้างมีเพียงแค่ 5 ปี ทำให้เกิดความสงสัยว่าจะส่งมอบพื้นที่เจ้าปัญหานี้สำเร็จหรือไม่