posttoday

ธุรกิจไทยผูกขาด500คนกินกำไร30%ของทั้งหมด

15 ตุลาคม 2562

สถาบันป๋วยฯ ชี้ภาคธุรกิจไทยกระจุกตัวสูง ทั้ง การผลิตสุรา การผลิตเบียร์ และการค้าส่งเครื่องดื่ม แชมป์ผูกขาด แนะเพิ่มการแข่งขัน

สถาบันป๋วยฯ ชี้ภาคธุรกิจไทยกระจุกตัวสูง ทั้ง การผลิตสุรา การผลิตเบียร์ และการค้าส่งเครื่องดื่ม แชมป์ผูกขาด แนะเพิ่มการแข่งขัน

นายกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่า จากการวิจัยข้อมูลผู้ถือหุ้นของบริษัทในประเทศไทยกว่า 3.3 ล้านรายการ ครอบคลุมธุรกิจที่จดทะเบียนกว่า 8.8 แสนราย พบว่า ภาคธุรกิจไทยมีกลุ่มทุนจำนวน 9,068 กลุ่ม โดยกลุ่มทุนมีความหลากหลายทั้งจำนวนบริษัทในกลุ่ม มูลค่าสินทรัพย์ และประเภทของอุตสาหกรรม โดยกลุ่มทุนส่วนมากประกอบด้วยบริษัทเพียง 2-3 บริษัท มีเพียง 13 กลุ่มทุนเท่านั้น ที่มีบริษัทในกลุ่มมากกว่า 100 บริษัท
สำหรับประเทศไทยอุตสาหกรรมที่กลุ่มทุนมีผลต่อการกระจุกตัวสูงสุด ได้แก่ การผลิตสุรา การผลิตเบียร์ และการค้าส่งเครื่องดื่ม ทั้งนี้จากการกระจุกตัวของความเป็นเจ้าของมีความสัมพันธ์ต่อการกระจุกตัวของการผลิต การลดความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจโดยนโยบายภาษีเงินได้นิติบุคคล อาจเกิดผลกระทบทางลบต่อการจ้างงานและธุรกิจรายย่อยที่ต้องพึ่งพิงธุรกิจรายใหญ่ นโยบายที่เหมาะสมจึงควรเป็นการส่งเสริมการแข่งขันเพื่อลดกำไรจากการผูกขาดไม่กี่ราย และเพิ่มการกระจายกำไรไปสู่ผู้ผลิตจำนวนหลายรายมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นโยบายส่งเสริมผู้เล่นรายใหม่โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องคำนึงถึงมิติด้านความเป็นเจ้าของด้วย โดยต้องส่งเสริมธุรกิจที่มีเจ้าของเป็นรายใหม่ที่แท้จริง ไม่ใช่ธุรกิจรายใหม่ที่มีเจ้าของรายเดิม

นายกฤษฎ์เลิศ กล่าวว่า โครงสร้างความเป็นเจ้าของในภาคธุรกิจที่กลุ่มทุนมีบทบาทสูงมีนัยต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมหลายประการ

ประการที่หนึ่ง คือ นัยต่อการวัดการกระจุกตัวของภาคธุรกิจ ซึ่งการที่บริษัทหลายแห่งมีเจ้าของร่วมกันและมีการตัดสินใจทางธุรกิจร่วมกันนั้นทำให้การวัดการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมต้องพิจารณาความเป็นเจ้าของร่วมกันของบริษัทต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่มีบริษัทหลายรายในกลุ่มทุนเดียวกันประกอบกิจการนั้น ๆ สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมที่กลุ่มทุนมีผลต่อการกระจุกตัวสูงสุด ได้แก่ การผลิตสุรา การผลิตเบียร์ การค้าส่งเครื่องดื่ม

ประการที่สอง คือ นัยต่อการวัดการกระจายตัวของรายได้และสินทรัพย์ธุรกิจของครัวเรือน เนื่องจากการถือครองหุ้นในบริษัทเป็นการถือครองสินทรัพย์ธุรกิจ (corporate wealth) ประเภทหนึ่งของครัวเรือน และในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ผลกำไรของบริษัทซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ดังกล่าวอาจนับได้ว่าเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของครัวเรือน ถึงแม้ว่ากำไรดังกล่าวอาจจะยังมิได้ถูกแจกจ่ายเป็นเงินปันผลให้ครัวเรือนก็ตาม ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ในปี 2560 ผู้ถือหุ้น 500 คนมีสัดส่วน 30% ในกำไรรวมของภาคธุรกิจไทย โดยสัดส่วนนี้คิดเป็นกำไรเฉลี่ย 3,098 ล้านบาทต่อคน นอกจากนี้ มูลค่ารวม (ทางบัญชี) ของส่วนผู้ถือหุ้น (total equities) สูงสุด 500 คน มีสัดส่วนถึง 36% ของภาคธุรกิจทั้งหมด