posttoday

ดัชนีเชื่อมั่นฯยังวูบต่อเป็นเดือนที่ 7 เหตุกังวลสงครามการค้า-ภัยธรรมชาติ

15 ตุลาคม 2562

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนก.ย.อยู่ที่ระดับ 46.2 ยังปรับลดลงต่อเนื่อง ปัจจัยลบรุมทั้งสงครามการค้า ภัยธรรมชาติ ลุ้นมาตรการชิมช้อปใช้ กระตุ้นใช้จ่าย แนะรัฐยกระดับสินค้าเกษตร -เร่งเบิกจ่ายงบ

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนก.ย.อยู่ที่ระดับ 46.2 ยังปรับลดลงต่อเนื่อง ปัจจัยลบรุมทั้งสงครามการค้า ภัยธรรมชาติ ลุ้นมาตรการชิมช้อปใช้ กระตุ้นใช้จ่าย แนะรัฐยกระดับสินค้าเกษตร -เร่งเบิกจ่ายงบ

นายธนวรรธน์  พลวิชัย  ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index)หรือ TCC-CI เดือน ก.ย.62 ว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 46.2 ลดลงจากเดือน ส.ค.ซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.5 และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือน มี.ค.62 ซึ่งมีปัจจัยลบมาจากทิศทางการส่งออกของไทยเดือนส.ค. ปรับตัวลดลง 4 % ปัญหาสงครามการค้าในระดับโลก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และปัญหา Brexit ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย ปัญหาขัดแย้งของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสถานการณ์การประท้วงในฮ่องกง, สถานการณ์ภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วมหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาคใต้ และกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ขณะที่ปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ "ชิม ช้อป ใช้" ได้รับการตอบสนองอย่างมากจากภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนการใช้จ่ายของภาครัฐบาลและภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.50% ต่อปี และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 30.768 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ส.ค.62 เป็น 30.570 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ก.ย.62 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้า

ทั้งนี้ภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ดังนี้ 1.การยกระดับสินค้าเกษตรให้เพิ่มสูงขึ้น และรักษาเสถียรภาพของระดับราคาพืชผลทางการเกษตรให้อยู่ในระดับสูง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น 2.เร่งเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนที่ได้อนุมัติไปแล้ว 3.เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำสำหรับเพื่อใช้ในการเกษตร และอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียง 4.การพัฒนาศักยภาพในการผลิต และการแปรรูปสินค้าเกษตร หรือสินค้าจากชุมชนให้มีมูลค่า เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น 5.เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และโลจิสติกส์ให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ทุกภูมิภาค