posttoday

ปิดจ็อบ!! 'ซีพี' พร้อมลงนามสัญญาไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน

11 ตุลาคม 2562

ดีเดย์ 25 ต.ค.นี้ กัดฟันรับข้อเสนอ RFP ไม่อยากเสียโอกาส โอดรัฐโยนภาระเวนคืนพื้นที่รัฐวิสาหกิจ

ดีเดย์ 25 ต.ค.นี้ กัดฟันรับข้อเสนอ RFP ไม่อยากเสียโอกาส โอดรัฐโยนภาระเวนคืนพื้นที่รัฐวิสาหกิจ

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่า ภายหลังจากที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ส่งหนังสือสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอีอซี วงเงิน 2.2 แสนล้านบาทให้กับกลุ่มพันธมิตรเครือเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CPH) เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา

ล่าสุดมีรายงานข่าวจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ระบุว่า ทางซีพีมีความพร้อมที่จะลงนามสัญญาโครงการดังกล่าวในวันที่ 25 ต.ค. นี้ ยอมรับว่าที่ผ่านมาการตอบรับข้อเสนอตามร่างในสัญญานั้นได้เจรจากันอย่างถึงที่สุดแล้ว ซึ่งก็ยอมรับข้อเสนอตามที่ระบุไว้ใน RFP คงยอมรับการขอเพิ่มข้อเสนออะไรไม่ได้อีกแล้ว เพราะมองว่าโครงการดังกล่าวเป็นเมกะโปรเจ็กส์ขนาดใหญ่ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติไปพร้อมกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติ

นอกจากนี้ซีพี ยังได้เจรจาหาพาร์ทเนอร์ทางการลงทุนจากทั่วโลก รวมถึงการเฟ้นหาแหล่งเงินกู้ซึ่งได้มีการลงทุนลงแรงให้กับโครงการนี้ไปมากแล้ว ดังนั้นจึงได้พยายามผลักดันอย่างถึงที่สุด เพราะหากโครงการต้องล้มลงไป จะทำให้รัฐบาลและเอกชนต่างเสียโอกาสทั้งคู่

ทั้งนี้สิ่งที่เอกชนต้องการให้รัฐบาลพยายามมากว่านี้ คือ การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการ ซึ่งมีบางส่วนอยู่ในความดูแลของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่ผ่านมารัฐบาลให้เอกชนเข้าไปเจรจาและดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวซึ่งอาจทำให้ติดขัดในบางเรื่อง ทั้งยังไม่รวดเร็วเท่ากับรัฐบาลไปเจรจาด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตามเรื่องการส่งมอบพื้นที่หลังลงนามสัญญา 72% นั้นเป็นที่เข้าใจได้ เพราะการก่อสร้างโครงการต้องทยอยพัฒนาไปทีละส่วน แต่ก็ต้องรักษากรอบเวลาในการส่งมอบพื้นที่ให้ได้ทั้งหมดเช่นกัน

รายงานข่าวระบุอีกว่าสำหรับข้อกำหนด Request For Proposal หรือ RFP ที่ระบุไว้เรื่องการส่งมอบพื้นที่นั้นประกอบด้วย

1. กำหนดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 10,000 ไร่ให้ครบภายใน 2 ปี นับจากวันออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน และเร่งรัดการออกหนังสือให้เอกชนเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้าง (Notice to Proceed: NTP) ภายใน 1 ปีนับจากวันลงนามสัญญา
2.การชดเชยในกรณีที่ภาครัฐส่งมอบพื้นที่ใหเอกชนล่าช้ากว่ากำหนดนั้นจะมีการชดเชยเฉพาะขยายระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้าง แต่ไม่มีการชดเชยเงินค่าเสียหายให้กับเอกชนคู่สัญญา
3.ต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสมและไม่ให้เป็นปัญหาต่อระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่โครงการ
4.รฟท.จะจ่ายค่าก่อสร้าง 1.17 แสนล้านบาทภายหลังจากที่โครงการเริ่มเปิดให้บริการหรือในปีที่ 6 บจากวันเริ่มต้นลงนามสัญญา