posttoday

บอร์ดอนุรักษ์พลังงานฯ หั่นงบเหลือปีละ5หมื่นล้าน เหตุรายได้ลดลง หวั่นอนาคตติดลบ

10 ตุลาคม 2562

'สมคิด'นั่งหัวโต๊ะเคาะกรอบเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ 5 ปี เหลือ 5 หมื่นล้านบาท จ่ายปีละ1หมื่นล้าน เหตุเงินเข้ากระเป๋าน้อยลง พร้อมรื้อเกณฑ์การใช้เงิน เพิ่มโครงการพลังงานทดแทน รองรับโรงไฟฟ้าชุมชน

'สมคิด'นั่งหัวโต๊ะเคาะกรอบเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ 5 ปี เหลือ 5 หมื่นล้านบาท จ่ายปีละ1หมื่นล้าน เหตุเงินเข้ากระเป๋าน้อยลง พร้อมรื้อเกณฑ์การใช้เงิน เพิ่มโครงการพลังงานทดแทน รองรับโรงไฟฟ้าชุมชน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบปรับลดกรอบวงเงินกองทุนฯ ระยะ 5 ปี (2563-2567) เหลือ 50,000 ล้านบาท หรือแบ่งจ่ายปีละ 10,000 ล้านบาท จากกรอบเดิมที่เสนอขอไว้ปี 2560-2564 วงเงิน 60,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.) ในช่วงสิ้นเดือน ต.ค.นี้

ทั้งนี้หากกพช.เห็นชอบจะเริ่มเปิดรับข้อเสนอโครงการในส่วนของกองทุนฯประจำปี 2563 ได้ประมาณเดือนธ.ค. 2562 โดยสาเหตุการปรับลดกรอบเงินกองทุนฯ เนื่องจากการจัดเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันมีจำนวนลดลง โดยตั้งแต่ปี 2561-2563 รัฐบาลปรับลดการเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันเพื่อส่งเข้ากองทุนฯลดลงจาก 25 สตางค์(สต.)ต่อลิตร เหลือ 10 สต.ต่อลิตร ทำให้คาดการณ์ว่าหากตั้งกรอบการใช้เงินไว้เท่าเดิมที่ 60,000 ล้านบาท จะทำให้กองทุนฯติดลบได้

นอกจากนี้ยังมีการปรับหลักเกณฑ์กองทุนฯใหม่ โดยปรับลดสัดส่วนการใช้เงินในโครงการที่เกี่ยวกับแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานลงจาก 67% เหลือ 50% และไปเพิ่มวงเงินสำหรับโครงการที่เกี่ยวกับแผนพลังงานทดแทนจากเดิม 30% เป็น 47% ขณะที่วงเงินด้านแผนบริหารจัดการกองทุนฯ อยู่เท่าเดิม 3%

อย่างไรก็ตามโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน สามารถนำเงินกองทุนฯมาใช้ได้ เนื่องจากจัดอยู่ในประเภทการส่งเสริมพลังงานทดแทน ซึ่งคาดว่าช่วง 5 ปีนี้กองทุนฯยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านการใช้รถยนต์ฟอสซิลเป็นรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) แต่หากรถ อีวี เติบโตอย่างรวดเร็วก่อน 5 ปี ทางคณะกรรมการกองทุนฯอาจพิจารณาปรับวงเงินกองทุนฯใหม่ได้ หรืออาจเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้รถ อีวี เพื่อส่งเข้ากองทุนฯแทนรถใช้น้ำมันที่ลดน้อยลงได้