posttoday

'เวียดเจ็ท' เปิดบินตรงเชื่อมเมืองรอง-ญี่ปุ่น รองรับตลาดการบินคึกคักรายได้พุ่ง100%

10 ตุลาคม 2562

'เวียดเจ็ท' รุกตลาดโลว์คอสต์ เล็งเปิดเส้นทางบินใหม่ เชื่อมเมืองรองไทย-ญี่ปุ่น เชื่อไฮสปีด 3 สนามบินแจ้งเกิดไม่กระทบตลาดแอร์ไลน์ เหตุใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า

'เวียดเจ็ท' รุกตลาดโลว์คอสต์ เล็งเปิดเส้นทางบินใหม่ เชื่อมเมืองรองไทย-ญี่ปุ่น เชื่อไฮสปีด 3 สนามบินแจ้งเกิดไม่กระทบตลาดแอร์ไลน์ เหตุใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า

นางเหวียน ถิ ถวิ บิ่ง ประธานกรรมการสายการบินไทยเวียตเจ็ท เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดการบินในไทยคึกคักทำให้คาดการณ์ยอดผู้โดยสารในปี 2562 อยู่ที่ 4.5 ล้านคน ขยายตัว 164% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 1.7 ล้านคน โดยในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมาพบว่าปริมาณผู้โดยสารมากกว่า 3 ล้านคนแล้ว จากปัจจัยสนับสนุนด้านตัวเลขนักท่องเที่ยวและจำนวนเครื่องบินที่เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ปี 2563 คาดว่าจะมีผู้โดยสารทั้งหมด 6 ล้านคน เนื่องจากจะมีการรับมอบเครื่องบินเพิ่ม 10 ลำ ทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับรายได้ของปีนี้ที่จะเติบโตมากกว่า 100% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนด้านอัตราบรรทุกผู้โดยสารต่อเที่ยว(Load Factor) อยู่ที่ 85% ดังนั้นในช่วงปลายเดือน พ.ย.จะมีการเปิดเส้นทางบินใหม่เชื่อมเมืองรอง อย่าง จังหวัดอุดรธานี ได้แก่ 1.เส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) – อุดรธานี 2.เส้นทางเชียงราย–อุดรธานี

รายงานข่าวจากสายการบินไทยเวียดเจ็ท แจ้งว่า แผนเปิดเส้นทางบินไปประเทศญี่ปุ่น นั้น มีการศึกษาไว้หลายเส้นทาง โดยจะเป็นการทำตลาดแนวใหม่ไม่แข่งขันกับเส้นทางที่มีเที่ยวบินจำนวนมากอยู่แล้ว โดยมีแผนจะเปิดเส้นทางบินเชื่อมเมืองรองไทย-ญี่ปุ่น เช่น เชียงใหม่-ญี่ปุ่น และ ภูเก็ต-ญี่ปุ่น เป็นต้น

ส่วนจุดหมายปลายทางในญี่ปุ่นจะเน้นเมืองเล็กๆที่ยังไม่ค่อยมีสายการบินสัญชาติไทยไปทำตลาด เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ให้นักท่องเที่ยวไทยและเป็นการดึงนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นให้เข้ามายังเมืองรองของไทยมากขึ้น

นางเหวียน ถิ ถวิ บิ่ง กล่าวว่า ตลาดท่องเที่ยวไทยในปี 2563 ยังคงเติบโตได้ดีมากขึ้น จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่คลี่คลายลง ซึ่งตลาดการบินของไทยจะเป็นแกนหลักส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยว CLMV ที่ยังคงชื่นชอบที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทย มองว่าตลาดการบินของประเทศไทยจะเติบโตได้อีกหลายปี เช่นเดียวกับกิจการของสายการบินต้นทุนต่ำ ดังนั้นไทยเวียดเจ็ทจึงมีแผนขยายเส้นทางบินเพื่อขนนักท่องเที่ยวต่างชาติมายังประเทศไทยมากขึ้น ผ่านการเปิดเส้นทางบินใหม่ในปี 2563 อาทิ เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย และจีนตอนใต้เป็นต้น ยืนยันว่าในสายตานักท่องเที่ยวทั่วโลกประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่สวยงาม คาดว่าสัดส่วนผู้โดยสารต่างชาติในปี 2563 จะอยู่ที่ 85% เพิ่มขึ้นจากปีนี้ซึ่งอยู่ที่ราว 50%

สำหรับการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะไม่ส่งผลต่อธุรกิจการบินต้นทุนต่ำ ไม่มีผลกับรายได้ของสายการบินต้นทุนต่ำแน่นอน หากมองให้ละเอียดลงไปนั้น รถไฟไฮสปีดช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ไม่มีผู้โดยสารคนไหนจะขึ้นเครื่องบินจากดอนเมืองไปอู่ตะเภาอย่างแน่นอน ขณะที่รถไฟไฮสปีดช่วงกรุงเทพ-เชียงใหม่ หรือ กรุงเทพ-หนองคาย นั้นอาจใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมง ซึ่งการนั่งเครื่องบินไปใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง
ดังนั้นผู้โดยสารมีโอกาสเลือกเรื่องเวลาเป็นสำคัญก่อน ส่วนตัวแปรของการแย่งตลาดนั้นต้องขึ้นอยู่กับราคาค่าโดยสารของรถไฟไฮสปีด หากตั๋วรถไฟมีราคาใกล้เคียงหรือต่ำกว่าค่าตั๋วเครื่องบินนิดหน่อย เชื่อว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินจะเป็นตัวเลือกที่มีน้ำหนักมากกว่า

อย่างไรก็ตามรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวในระยะยาว ทำให้นักท่องเที่ยวต่อเที่ยวบินในไทยได้มากขึ้นและลดความแออัดที่สนามบินสุวรรณภูมิ อีกทั้งเมืองการบินอู่ตะเภายังเป็นที่สนใจของกลุ่มสายการบินในการเปิดเส้นทางบินหรือย้ายฟลีทไปที่อู่ตะเภา เพราะใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองไทยอย่างเมืองพัทยา