posttoday

เซ็นด่วนจี๋! 25 ต.ค. นี้"ซีพี"ลุยไฮสปีดเทรน3สนามบิน

10 ตุลาคม 2562

รถด่วนตั้งกรรมการ ร.ฟ.ท. รับทราบเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามสนามบิน

รถด่วนตั้งกรรมการ ร.ฟ.ท. รับทราบเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามสนามบิน

นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ร่วมประชุม ว่า คณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบการส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน พร้อมทั้งให้มีการตั้งคณะทำงานส่งมอบพื้นที่ โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และจะมีการเสนอให้คณะกรรมการอีอีซี ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้การก่อสร้างโครงการไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบินเดินหน้าต่อได้ตามแผน โดยจะมีการเซ็นสัญญากับกลุ่มซีพี ซึ่งชนะการประมูลในวันที่ 25 ต.ค. นี้

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมโครงการดังกล่าว ได้ทำหนังสือส่งไปยังกลุ่มบริษัทซีพี เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา ว่าให้เข้ามาทำการเซ็นสัญญากันในวันที่ 25 ต.ค. นี้ โดยเลขาธิการคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ทำการประสานไปยังกลุ่มซีพีอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ซึ่งทางกลุ่มซีพีได้ยืนยันว่าพร้อมที่จะเข้ามาเซ็นสัญญาตามกำหนดเวลา

สำหรับปัญหาที่คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องเห็นชอบ ได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการ รฟท. ชุดใหม่ตามกฎหมายแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นชอบ ส่งให้กระทรวงคมนาคมดูแล้ว หลังจากนั้นได้ส่งเรื่องให้พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการ รฟท. ได้ทันที โดยไม่ต้องมีการประชุม เพราะมีอำนาจตามตำแหน่ง และในวันที่ 15 ต.ค. นี้ จะเสนอรายชื่อคณะกรรมการ รฟท. ชุดใหม่ให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบ

หลังจากนั้นคณะกรรมการ รฟท. จะมีการประชุมทันที เพื่อรับทราบการดำเนินการเซ็นสัญญาโครงการไฮสปีดเทรนด์เชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหา เพราะคณะกรรมการ รฟท. มีหน้าที่รับทราบเท่านั้น เพราะถ้าคณะกรรมการ รฟท. ไม่มีมติรับทราบ ก็จะทำให้ผู้ว่า รฟท. ไม่มีอำนาจในการเซ็นสัญญาผูกพันในโครงการดังกล่าวได้ และเมื่อคณะกรรมการ รฟท. รับทราบแล้ว ก็จะเสนอเรื่องการเซ็นสัญญากับกลุ่มซีพี ให้ ครม. เห็นชอบในวันที่ 22 ต.ค. 2562 เพื่อให้การเซ็นสัญญาเป็นไปตามกำหนด

"วันนี้ทุกคนมีเจตนาที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ วันนี้ไม่มีอะไรแล้ว เพียงแต่ทำให้กระบวนการมันถูกต้อง ครบถ้วนเท่านั้นเอง ด้านเอกชนเองก็อยากลงนาม ยืนยันว่าไม่ได้มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน ทุกคนอย่างให้โครงการนี้สำเร็จ แต่เงื่อนไขอยู่ที่ว่าการส่งมอบพื้นที่มีความจำเป็น หากไม่มีการกำหนดเวลาชัดเจน รถไฟฟ้ากับสนามบินจะไม่เชื่อมกัน เอกชนจะมีปัญหา เพราะเป็นโครงการร่วมทุนไม่ใช่จ้างทำ ตอนนี้คุยกับฝ่ายเอกชนแล้ว ถ้าเป็นไปตามนี้ก็สามารถลงนามได้" นายศักดิ์สยาม กล่าว

เซ็นด่วนจี๋! 25 ต.ค. นี้"ซีพี"ลุยไฮสปีดเทรน3สนามบิน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน สามารถดำเนินการได้แล้ว 72% ประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ 1. ระยะทางระหว่างสถานีพญาไท-สถานีสุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ พร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทันที 2. ระยะทางระหว่างสถานีสุวรรณภูมิ-สถานีอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร คณะทำงานส่งมอบพื้นที่จะสามารถดำเนินการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 1 ปี 3 เดือน ทำให้ระยะทางตั้งแต่สถานีพญาไท-สถานีอู่ตะเภา เปิดให้บริการได้ในปี 2566-2567 3. สถานีพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร เป็นส่วนที่ดำเนินการได้ยากที่สุด เพราะมีต้องมีการเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภค เกี่ยวข้องกับ 3 กระทรวง 8 หน่วยงาน คาดว่าจะใช้เวลาในการส่งมอบพื้นที่ 2 ปี 3 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2567-2568

"การส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด ทางผู้ชนะการประมูลได้รับทราบเงื่อนไขดังกล่าวหมดแล้ว ซึ่งไม่มีปัญหาใด ๆ ในการเซ็นสัญญา เพราะว่าทุกหน่วยงานอย่างให้โครงการนี้เกิดขึ้น เพราะหากสร้างสนามบินเสร็จแล้วแต่รถไฟไม่เสร็จจะทำให้เกิดปัญหาในการเชื่อมต่อได้" นายคณิศ กล่าว