posttoday

ชิมช้อปใช้ กระจุกตัวไม่กระจายต่างจังหวัด ดัชนีเชื่อมั่นฯยังดิ่งต่ำสุดรอบ39เดือน

10 ตุลาคม 2562

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคฯเดือน ก.ย. แตะ 72.2 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่7 ต่ำสุดในรอบ39 เดือน เหตุกังวลเศรษฐกิจโลก การเมืองไม่นิ่ง มาตรการชิมช้อปใช้ ยังไม่เห็นผล กระจุกเขตเมือง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคฯเดือน ก.ย. แตะ 72.2 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่7 ต่ำสุดในรอบ39 เดือน เหตุกังวลเศรษฐกิจโลก การเมืองไม่นิ่ง มาตรการชิมช้อปใช้ ยังไม่เห็นผล กระจุกเขตเมือง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนก.ย. 2562 อยู่ที่ 72.2 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และต่ำสุดในรอบ 39 เดือน แม้ว่ารัฐบาลเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและในอนาคต นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก ประกอบกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และปัญหา Brexit

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 59.3 68.5 และ 88.9 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนสิงหาคม ที่อยู่ในระดับ 60.9 69.7 และ 90.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก

"ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงของดัชนีทุกรายการต่อเนื่อง เนื่องมาจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมืองเป็นสำคัญ อีกทั้งผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ จะทำสงครามการค้ากับจีนมากขึ้นโดยจะขึ้นภาษีระหว่างกันมากขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จะส่งผลให้ต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเชิงลบในอนาคต และทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่สามของปีนี้เป็นอย่างน้อย ดังนั้น รัฐบาลควรดำเนินนโยบายการเงินและการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง"นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ประเมินผลจากเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาขณะนี้ ยังคงมีความล่าช้าและไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเท่าที่ควร ทั้งเม็ดเงินจากการโอนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการการประกันรายได้เกษตรกร และชิมช้อปใช้ ที่เม็ดเงินยังไม่เข้าสู่ระบบเท่าที่ควร รวมถึงยังไม่กระจายสู่ต่างจังหวัดมากนัก

นอกจากนีภายหลังจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มข้นมากขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและมีผลโดยตรงกับการส่งออกของไทย อาจติดลบ 2-3% และทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ในปี 2562 ขยายตัวต่ำกว่า 3% เหลือเพียง 2.6-2.8% หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่เห็นผลไตรมาส 4/2562 ซึ่งกังวลว่าเศรษฐกิจจะซบเซายาวไปถึงปี 2563 ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งหามาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในต่างจังหวัดให้มากขึ้น