posttoday

"ฟิลลิป มอร์ริส"แจงบุหรี่ให้ความร้อนไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้า

10 ตุลาคม 2562

"ฟิลลิป มอร์ริส" แจงผลิตภัณฑ์แบบให้ความร้อนไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้า และไม่เกี่ยวข้องโรคปอดอักเสบในอเมริกา

"ฟิลลิป มอร์ริส" แจงผลิตภัณฑ์แบบให้ความร้อนไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้า และไม่เกี่ยวข้องโรคปอดอักเสบในอเมริกา

ฟิลลิป มอร์ริส เผยผลิตภัณฑ์แบบให้ความร้อนแตกต่างจากบุหรี่ไฟฟ้าและยังไม่มีรายงานจากหน่วยราชการหรือหน่วยงานสาธารณสุขในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศใด ว่ามีความเกี่ยวข้องข้องกับกรณีโรคปอดอักเสบในสหรัฐอเมริกา

ขณะนี้ รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกาและอยู่ระหว่างการสืบหาสาเหตุของโรคปอดอักเสบที่อาจเกี่ยวข้องกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้กล่าวว่ายังไม่สามารถระบุได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือสารใดมีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงในทุกเคส ซึ่งยังจำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป

นายพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยเเลนด์) ลิมิเต็ด บริษัทในเครือของฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ (พีเอ็มไอ) เผยว่า ผลิตภัณฑ์แบบให้ความร้อนของพีเอ็มไอแตกต่างจากบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมีส่วนประกอบของใบยา ไม่ใช่น้ำยานิโคตินเหลว และไม่ใช่บุหรี่ซิกาแรตเนื่องจากไม่มีการเผาไหม้ แต่เป็นการให้ความร้อนกับใบยา ผลิตภัณฑ์แบบให้ความร้อนของพีเอ็มไอนับเป็นยาสูบไร้ควันตัวแรกที่สามารถจำหน่ายได้ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน จนถึงปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานสาธารณสุขใดๆ ทั้งจากในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ระบุว่าผลิตภัณฑ์ของพีเอ็มไอเกี่ยวข้องกับโรคปอดอักเสบ

แต่ทว่าองค์กรที่รณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่กลับออกมาให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และยังอ้างถึงผลิตภัณฑ์ไร้ควันของพีเอ็มไอ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภค หน่วยราชการ และประชาชนทั่วไปเข้าใจผิด และเกิดความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพของผลิตภัณฑ์ไร้ควัน ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์แบบให้ความร้อน (Heated Tobacco Product) ของพีเอ็มไอ”
ผลิตภัณฑ์แบบให้ความร้อน คือ ยาสูบแบบไม่เผาไหม้ที่ใช้อุปกรณ์ให้ความร้อนใบยาเพื่อให้เกิดไอละอองที่มีส่วนประกอบของนิโคติน โดยที่ใบยาสูบไม่มีการเผาไหม้ ทำให้ไอละอองที่ปล่อยออกมามีสารประกอบที่เป็นอันตรายน้อยกว่าสารประกอบที่พบในควันบุหรี่โดยเฉลี่ย 95% พีเอ็มไอทำการศึกษาทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังเกี่ยวกับศักยภาพในการลดความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงการศึกษาทางคลินิก 10 ชิ้น หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่มีในปัจจุบันชี้ว่าการเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์แบบให้ความร้อนโดยสมบูรณ์ แม้จะไม่ได้ปลอดภัยจากความเสี่ยงทั้งหมดและยังทำให้เกิดการเสพติด แต่ก็เป็นอันตรายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่

“เราสนับสนุนให้มีการกำหนดมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมนิโคตินมาโดยตลอด” นายพงศธรย้ำ “แทนที่จะออกกฎหมายห้ามผลิตภัณฑ์ไร้ควันทั้งหมด เราอยากเห็นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ไร้ควันได้ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะดึงดูดผู้ไม่สูบบุหรี่และเยาวชนได้ด้วย”

“เราชี้แจงอย่างชัดเจนมาโดยตลอดว่าผลิตภัณฑ์ของพีเอ็มไอยังคงมีความเสี่ยงและเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ่ที่ยังคงจะสูบบุหรี่ต่อไปเท่านั้น ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่และผู้ไม่เคยสูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มีส่วนผสมของนิโคติน ผลการวิจัยจนถึงปัจจุบันชี้ว่าไม่มีแนวโน้มที่น่ากังวลใจว่าผู้ที่เลิกบุหรี่แล้ว ผู้ไม่สูบบุหรี่และเยาวชน หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา เราเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์และป้องกันเด็กและเยาวชน คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้ถูกกฎหมาย ไม่ใช่การห้ามแบบเบ็ดเสร็จแบบในปัจจุบัน เราจะยังคงนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องรวมถึง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลังต่อไป” นายพงศธร กล่าว

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสืบสวนหาสาเหตุโรคปอดอักเสบรุนแรงในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค และองค์การอาหารและยา (ยูเอส เอฟดีเอ) สหรัฐอเมริกา เริ่มต้นหารสืบสวนหาสาเหตุของอาการป่วยปอดอักเสบในผู้ป่วยกว่า 1,000 ราย ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิต 18 ราย (ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมฯ วันที่ 1 ต.ค.) ในจำนวนผู้ป่วยเหล่านี้มีเยาวชนรวมอยู่ด้วย ในกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากที่เก็บมาตรวจสอบพบว่ามีการปนเปื้อนของสารแคนนาบินอยด์ (น้ำมันกัญชา หรือ THC) รายงานข่าวระบุว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่น่าจะได้รับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอย่างเหมาะสมสำหรับการใช้ ในขณะที่หน่วยงานสาธารณสุขยังไม่ได้มีข้อสรุปออกมา ยูเอส เอฟดีเอ แนะนำผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าให้ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ถูกกฎหมาย และหลีกเลี่ยงการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีส่วนผสมของน้ำมันกัญชา และห้ามดัดแปลงหรือเติมสารประกอบอื่นใดลงไปในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาจากร้านค้า