posttoday

จับตาการเมืองล็อกเป้าเขย่า 2 บิ๊กเมกะโปรเจ็ก ไฮสปีด 3 สนามบิน-สายสีส้มตะวันตก

09 ตุลาคม 2562

ทีมเศรษฐกิจภาครัฐ

ทีมเศรษฐกิจภาครัฐ

ที่สุดแล้ว การลงนามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน)เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่าลงทุน 224,544.36
ล้านบาท กับกลุ่มพันธมิตรซีพี หรือ CPH มีอันต้องเลื่อนจากเดิมที่ระบุไว้วันที่ 15 ต.ค. ไปเป็นวันที่ 25 ต.ค. เหตุผลคือ คณะกรรมการการ
รถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ยื่นใบลาออก ส่งผลให้กระบวนการลงนาม ที่ต้องมีรฟท.เป็นเจ้าภาพเกิดความไม่สมบูรณ์

ขณะที่ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน เจ้าสัวซีพี นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ออกมาวิพากษ์ โครงการไฮสปีด3สนามบิน
รัฐไม่ควรผลักภาระให้เอกชนต้องรับภาระทุกอย่าง ทั้งๆที่เป็นการร่วมทุนเอกชนและรัฐ ซึ่งอ้างว่าใน TOR ระบุไว้ต้องแบ่งความเสี่ยงร่วมกัน ครั้ง
นี้ถือว่า ซีพี ออกอาการเสียรังวัดได้ชัด เหตุต้องรับความเสี่ยงและภาระในเรื่องการเวนคืนที่ดินบริเวณก่อสร้าง ส่งผลให้การลงนามสัญญาล่าช้าไปกว่า
7-8 เดือนแล้ว

2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ความล่าช้าของการลงนามดีลใหญ่ครั้งนี้ อาจนำมาสู่การทบทวนเงื่อนไขTOR หรืออาจ
ถึงขั้นล้มดีล เนื่องจากการเลื่อนลงนามไม่น่าจะใช่สาเหตุเดียวเรื่องจากบอร์ดรฟท. เนื่องจากการลาออกของบอร์ดเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา
ซึ่งกระทรวงคมนาคมย่อมทราบขบวนการและขั้นตอนดีอยู่แล้ว แต่การขยับเงื่อนเวลาการลงนาม เพื่อซื้อเวลาให้มีการเจรจาต่อรอง จากนี้คงต้องดูว่า
บอร์ดชุดใหม่จะเป็นใครกันบ้าง ซึ่งเชื่อการทำหน้าที่ของบอร์ดชุดใหมครั้งแรก คงต้องขอพิจารณาเงื่อนไขสัญญาของโครงการนี้ให้รอบคอบก่อน ที่
จะทำหน้าที่ลงนามสัญญา

แต่ที่น่าเป็นห่วง เริ่มมีเสียงการคัดค้านจากสังคม โดยเฉพาะฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยกับสัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน มีการวิจารณ์ถึง การยกประโยชน์ให้
กับกลุ่มซีพีมากเกินไป ตลอดจนมีความเสี่ยงที่จะเกิดค่าโง่เช่นเดียวกับโฮปเวลล์ เพราะเมื่อลงนามสัญญาแล้วก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าส่งมอบพื้นที่เกิดขึ้น
จริง แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นความคืบหน้า เนื่องจากยังเกิดปัญหาใหญ่ในเรื่องการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค ทั้งท่อขนส่งน้ำมัน ท่อระบายน้ำ สาย
ไฟฟ้า การขุดคลองขนาด 17 เมตร ซึ่งมีพื้นที่ติดกับแนวพระราชฐาน ขณะเดียวกันยังมีการเปิดช่องให้เอกชนเข้าพัฒนาพื้นที่ทำเลทองย่านมักกะสัน
สามารถขยายสัญญาจาก 50 ปี ต่อได้อีก 49 ปี หรือรวมเป็น 99 ปี

ปมร้อนต่างๆเหล่านี้ ทำให้ฝ่ายค้านเล็งตั้งกระทู้ เมื่อเปิดการประชุมสภาครั้งหน้า รวมถึงการยื่นญัตติอภิปรายไม่วางใจรัฐบาล ที่จะกลายเป็นเผือกร้อน ใหม่กับ ครม.บิ๊กตู่

ว่ากันว่า ถ้างานนี้ กลุ่มซีพีชวด กลุ่ม BSRหรือ กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์(BSR Joint Venture) ซึ่งมีความสนิทสนมกับ กลุ่มการ
เมือง ก็พร้อมติดเครื่องลุยต่อทันที ขณะที่กลุ่มพันธมิตรซีพี จะถูกขึ้นแบล็คลิสต์โครงการลงทุนของภาครัฐ ส่งผลให้รายใหญ่อย่าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)หรือ CK และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ถูกตัดตอนชิงเค้กโครงการลงทุนที่รอประมูลอีกกว่า 5 แสนล้านบาทในช่วงปี 2562-2563 อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โครงการ
รถไฟทางคู่ ไปจนถึงโครงการมอเตอร์เวย์และก่อสร้างถนนทั่วประเทศ

อีกโครงการที่กระทรวงคมนาคม ตั้งทบทวนเงื่อนไขลงทุนกันใหม่ ก็คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงินลงทุน 1.28 แสนล้านบาท งานนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี โดดขึ้นมานั่งหัวโต๊ะ สั่งการหารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมที่สุด จากเดิมปักธงเลือกแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการรัฐ หรือ PPP 100% ซึ่งลงทุนทั้งงานโยธาและระบบเดินรถ

แต่การพิจารณาล่าสุดเสนอให้แยกสัญญางานโยธาออกมาให้รัฐดำเนินการ ส่วนงานเดินรถเปิดให้เอกชนมาบริหาร โดยการแยกงานโยธาออกมาจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 10,000 ล้านบาท จากวงเงินก่อสร้าง 90,000 ล้านบาท

หากรัฐเลือกแยกสัญญาลงทุน เท่ากับจะต้องมีเอกชนผู้ลงทุน 2 รายใหญ่ ซึ่งก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ต้องการแบ่งเค้กเพื่อให้กับกลุ่มชิโน-ไทย กับ กลุ่มบีทีเอส หรือไม่ โดยใช้เหตุผลของการประหยัดงบลงทุนมาเป็นข้อต่อรอง

แม้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จะออกมาการันตี งานนี้ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดทั้งสิ้นยึดประโยชน์ที่ประชาชนได้รับและ
ไม่เป็นภาระการลงทุนของภาครัฐ ก็ตาม

งานนี้คงต้องเกาะติดแบบไม่กระพริบตา ทั้ง 'ศักดิ์สยาม' และ 'อนุทิน' จะถูกเป็นเป้าโจมตีในการรื้อ TOR ของ 2 โปรเจ็กใหญ่นี้เพื่อใครหรือไม่ และกระเทือนไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาลแค่ไหน??