posttoday

'ธีระชัย'แฉ ไฮสปีดอีอีซี ฮั้วประมูล-ส่อยกสมบัติชาติให้เจ้าสัวถึง 100 ปี

08 ตุลาคม 2562

อดีตรมว.คลัง เตือนไฮสปีด 3 สนามบิน เสี่ยงซ้ำรอยค่าโง่โฮปเวลล์ พัวพันข้าราชการทุจริต ด้านพรรคฝ่ายค้านเตรียมจองกฐินอภิปรายไม่ไว้วางใจ‘วันนอร์’เตือน 'ศักดิ์สยาม' เสี่ยงนอนคุกหากไม่ยับยั้งโครงการ

อดีตรมว.คลัง เตือนไฮสปีด 3 สนามบิน เสี่ยงซ้ำรอยค่าโง่โฮปเวลล์ พัวพันข้าราชการทุจริต ด้านพรรคฝ่ายค้านเตรียมจองกฐินอภิปรายไม่ไว้วางใจ‘วันนอร์’เตือน 'ศักดิ์สยาม' เสี่ยงนอนคุกหากไม่ยับยั้งโครงการ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีอีซี นั้นเป็นการโกหกประชาชนเพื่อนำเงินลงทุนมหาศาลไปยกผลประโยชน์ให้เอกชน ขณะที่การพัฒนาที่เหมาะสมคือรถไฟทางคู่ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าถึง 3 เท่า หรือเพียง 50,000 ล้านบาท อีกทั้งยังโกหกปิดบังเรื่องการเปิดช่องให้เอกชนเข้ามาเทคโอเวอร์สมบัติชาติคือพื้นที่มักกะสัน ซึ่งนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงว่าเป็นการให้เช่าพื้นที่ 50 ปี แต่บอกไม่หมดว่าเอกชนสามารถบังคับขยายสัญญาเช่าออกไปอีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปี นอกจากนี้โครงการดังกล่าวระบุว่าเป็นการเปิดกว้างแบบ International Bidding แต่กลับพบผู้ยื่นประมูลเพียง 2 ราย เท่านั้น

ดังนั้นจึงมองว่าเป็นการประเคนที่ดินให้กับผู้ชนะ เพราะผู้ประเมินคือนิด้า และศศินทร์ ซึ่งไม่ถูกขึ้นทะเบียนบริษัทที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)จึงไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ อีกทั้งยังมีความไม่ชอบมาพากลในการประเมินราคาที่ดิน ด้วยราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก ทำให้มูลค่าที่ดิน เหลือเพียงตารางวาละ 2-3 แสนบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าที่แท้จริง

สำหรับปัญหาใหญ่ที่จะกลายเป็นค่าโง่นั้นคือการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลมีการอ้างว่า สามารถทยอยส่งมอบพื้นที่ได้ ไม่ต้องส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด แต่มองว่า เมื่อลงนามสัญญา ต้องพิสูจน์ได้ว่าการส่งมอบพื้นที่เกิดขึ้นได้จริง แต่วันนี้เห็นว่ามีปัญหาในการส่งมอบพื้นที่ จากปัญหาจากการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค เช่น ท่อส่งน้ำมันที่ใช้เวลาย้าย 6-12 เดือน ท่อระบายน้ำ และสายไฟฟ้า รวมถึงการขุดคลอง 17 เมตร ซึ่งมีพื้นที่ติดกับเขตพระราชฐาน จึงมองว่า ซึ่งการส่งมอบพื้นที่จะทำได้ภายในเวลาที่กำหนด ดังนั้นทางออกของปัญหาเรื่องงนี้คือต้องล้มประมูลโครงการแล้วคืนเงินประกันให้เอกชนไปแบบไม่มีการติดแบล็คลิสต์

ด้านนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการฮั้วประมูล ซึ่งน่าสังเกตุว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องของเบื้องบนที่สั่งการมาให้ รฟท.ดำเนินการเพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีแผนศึกษาเส้นทางดังกล่าวมาก่อน เป็นธรรมชาติของทุกรัฐบาลที่เข้ามาผลักดันโครงการเอาหน้า แต่พอสุดท้ายไม่สำเร็จคนที่โดนด่าและมีความผิดคือ รฟท. เช่นเดียวกับกรณีของโครงการโฮปเวลล์ที่มีการผลักดันในรัฐบาลชุดเก่า แต่พอรัฐบาลชุดใหม่มา มีการสั่งยกเลิกโครงการ ส่งผลให้ต้องนำเงินภาษีประชาชนมาจ่ายค่าฟ้องร้องอีกทั้งประเทศไทยยังเสียเครดิตเรื่องของความน่าเชื่อถือทางการลงทุนกับรัฐบาลไทย จนทำให้ต่อสู้คดีทำนองนี้ในชั้นอนุญาโตตุลาการแล้วแพ้ทุกคดี ตัวอย่างเช่นเรื่องค่าโง่ทางด่วนเป็นต้น

อีกทั้งมองว่าโครงการนี้มีสิทธิ์ที่จะเป็นค่าโง่ครั้งใหญ่สูงมาก จากสาเหตุเรื่องการส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ตามกรอบเวลาซ้ำรอบโครงการโฮปเวลล์ จึงเกิดคำถามว่าโครงการนี้ได้ประโยชน์กับประชาชนหรือใครกันแน่ เพราะเอกชนที่เข้ามาลงทุนไมได้มาเพื่อการกุศลต่างต้องการหวังผลประโยชน์และกำไรมหาศาล

“ขณะเดียวกันมองว่าร่างสัญญาไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะทราบ มีการปิดเป็นความลับมาตลอดน่าเชื่อได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสเกิดกรณีทุจริตข้าราชการ อีกทั้งรัฐบาลอาจร่วมรู้เห็นด้วยจากพฤติกรรมพยายามดึงให้รถไฟสามสนามบิน เกี่ยวข้องกับอีอีซี เพราะกฎหมายอีอีซีเป็นกฎหมายพิเศษ และหากดูเงื่อนไขพิเศษ ในการใช้พื้นที่อีก 49 ปี ไม่ใช่เพียงแค่ 50 ปี แต่รัฐบาลต้องรีบเซ็นเพราะกลัวการวิพากษ์วิจารณ์ และไม่ให้ตั้งกรรมาธิการ” นายประภัสร์กล่าว

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้โครงการไฮสปีดเดินหน้าต่อไป เพราะไม่โปร่งใสตั้งแต่แรก อีกทั้งเรื่องรถไฟไฮสปีดยังเป็นเพียงเรื่องบังหน้าที่จะเปิดช่องให้เอกชนเข้ามาลงทุนพื้นที่เชิงพาณิชย์มักกะสัน โดยตลอดเวลา 50 ปี แต่รฟท.กลับได้เงินกลับมาแค่ 50,000 ล้านบาท ทั้งที่มูลค่าที่ดินนั้นในปัจจุบันอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท และในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางด้านสหภาพการรถไฟแห่งประเทศไทยคาดว่ามูลค่าจะเพิ่มถึง 800,000 ล้านบาท ในปีที่ 50 ซึ่งถือว่าเป็นผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่เอกชนจะได้ฝ่ายเดียวทั้งหมด

นอกจากนี้ยังสามารถขยายสัญญาออกไปได้อีกด้วย จึงเห็นได้ว่ารถไฟไฮสปีดเป็นแค่ส่วนประกอบเพราะเรื่องใหญ่คือการเข้ามาตักตวงผลประโยชน์บนที่ดินทำเลทองกลางใจเมือง  อย่างไรก็ตามขอเตือนนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมไม่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ตั้งแต่แรก ดังนั้นหากมีการลงนามสัญญา แล้วเกิดอะไรขึ้นในอนาคตต้องเป็นผู้รับผิดชอบเพราะเป็นเบอร์ 1 ของกระทรวงคมนาคม ดังนั้นอย่าเอาชีวิตของคุณไปเกี่ยวข้องเรื่องนี้กับเขาเลย

ทั้งนี้กรรมาธิการคมนาคมจะเริ่มประชุม วันที่ 10 ต.ค.นี้  ตนกับฝ่ายค้านจะเสนอญัตติให้นำเสนอไฮสปีดและการพัฒนาพื้นที่ อีอีซีเข้าที่ประชุมเพื่อให้ตรวจสอบ หากตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้วจะเรียกผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผอ.อีอีซี และ รักษาการ ผู้ว่า รฟท. เข้ามาขี้แจง เพื่อขอดูสัญญาและทีโออาร์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทันวันที่จะลงนาม 25 ต.ค.นี้หรือไม่ ทั้งนี้หากไม่ทันจะมีแนวทางต้องทำหน้าที่ในสภาโดยฝ่ายค้านต้องยื่นการอภิปรายเป็นรายบุคคลหรืออภิปรายทั่วไปรัฐบาล รวมทั้งตั้งกระทู้เมื่อเปิดสภา ทั้ง รมว.คมนาคม หรือ นายกรัฐมนตรี ได้ หากโครงการนี้เกิดความไม่โปร่งใส ตลอดจนอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน

ขณะที่นายสุวิช ศุมานนท์  ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ(สพ.รฟ.) กล่าวว่า การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางดังกล่าวนั้น นอกจากจะยกผลประโยชน์มหาศาลให้เอกชนแล้ว ยังทำให้ประเทศชาติเสียหาย เนื่องจากในสัญญามีระบุว่าห้าม รฟท.เดินรถแข่งขันในเส้นทางดังกล่าว ส่งผลให้ในอนาคตรัฐบาลจะไม่สามารถพัฒนาโครงข่ายรถไฟธรรมดาหรือรถไฟทางคู่สายตะวันออกได้เลย ตั้งแต่ จังหวัดกรุงเทพ-ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ถือว่ากระทบต่อแผนพัฒนาระบบรางในภาพรวมเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก ทำให้คนไทยมีมีทางเลือกอื่นในการเดินทางนอกจากการใช้รถไฟความเร็วสูง อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดค่าโง่แบบทางด่วนที่มีการสร้างทางด่วนทับซ้อนกับของเอกชน นำมาซึ่งการฟ้องร้องค่าโง่นับแสนล้านบาทเหมือนในปัจจุบัน