posttoday

'อนุทิน' เรียกประชุม 8 ต.ค. เร่งสรุปสายสีส้ม เล็งรื้อแผนหั่นต้นทุนหมื่นล้าน

07 ตุลาคม 2562

คมนาคม เชื่อรถไฟฟ้าสายสีส้มบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม ยอดผู้โดยสารจ่อทะลุ 4.4 แสนคนต่อวัน เตรียมขยับแผนลงทุนแยกงานโยธา ลดค่าใช้จ่าย ชูค่าโดยสารถูกเป็นเกณฑ์เลือกเอกชนลงทุน

คมนาคม เชื่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมยอดผู้โดยสารจ่อทะลุ 4.4 แสนคนต่อวัน เตรียมขยับแผนลงทุนแยกงานโยธา ลดค่าใช้จ่าย ชูค่าโดยสารถูกเป็นเกณฑ์เลือกเอกชนลงทุน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท หลังจากกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นว่าหากรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของงานโยธาเองจะทำให้มีมูลค่าของโครงการที่ถูกลงไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่า 10% ของวงเงินค่าก่อสร้างทั้งหมด 90,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ยืนยันว่า หากรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของงานโยธาเองนั้นจะไม่ทำให้โครงการล่าช้า เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาไว้แล้ว พร้อมกันนี้ยังมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ กรมขนส่งทางราง(ขร.) ไปพิจารณาความแตกต่างระหว่างระบบรถไฟรางหนัก (Heavy Rail)กับรถไฟฟ้ารางเดี่ยว(Monorail)พร้อมทั้งพิจารณาข้อกังวลทั้งในส่วนเรื่องของค่าโดยสารของประชาชน และเพดานหนี้สาธารณะด้วย 

ขณะที่ในส่วนของจำนวนผู้โดยสารที่ระบุว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรีเมื่อรวมกับฝั่งตะวันตก จะมีจำนวนผู้โดยสาร 440,000 คนต่อวัน นั้น ตนมองว่าตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะตนเชื่อว่าผู้โดยสารจะมากกว่านี้เนื่องจากเส้นทางดังกล่าว ผ่านใจกลางเมือง จึงสั่งการให้ รฟม.ไปอัพเดทข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน

“หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ฝ่ายเศรษฐกิจให้กลับมาทบทวนโครงการรถไฟสายสีส้มว่าจะใช้รูปแบบไหน ก็ต้องมาดูว่าอันไหนถูกกว่าและดีกว่า ก็จะเสนอข้อเท็จจริงและข้อเปรียบเทียบเสนอให้ ครม.พิจารณา ซึ่งตอนนี้มี 2 รูปแบบคือ แยกการก่อสร้างออกจากการเดินรถ แต่ปัจจุบันรวมเป็นเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)100% ซึ่งกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นว่าถ้าแยกก่อสร้างออกมาจะถูกกว่าซึ่งความเห็นนี้มีเป็นตัวหนังสืออยู่ในรายงานการประชุม”นายศักดิ์สยาม กล่าว

สำหรับกรอบการพิจารณาโครงการนั้นจะต้องเรียงลำดับความสำคัญในการประมูลชิงเค้กโครงการ เพื่อตอบโจทย์ 3 กลุ่มหลักที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder)คือ ลำดับที่ 1. ประชาชนจะต้องได้ประโยชน์สูงสุดและรับภาระน้อยที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของอัตราค่าโดยสาร ลำดับที่ 2. รัฐจะต้องมีการลงทุนน้อย และลำดับที่ 3. เอกชนที่มาลงทุนจากรัฐจะต้องได้รับผลตอบแทน

ทั้งนี้ในวันที่ 8 ต.ค. 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประชุมร่วมกันถึงโครงการดังกล่าวเพื่อหาข้อสรุปว่าจะดำเนินการในรูปแบบใดต่อไป หากได้ข้อสรุปออกมาว่ารัฐจะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของงานโยธาเอง จะถอนเรื่องกลับมาเพื่อพิจารณาอีกครั้งจากนั้นจะส่งเรื่องกลับไปยังคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (บอร์ดรฟม.) ก่อนที่จะเสนอให้ ครม.ฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณา เพื่อส่งไปยัง ครม.ชุดใหญ่และเข้าสู่กระบวนการ PPP เฉพาะการเดินรถต่อไป ขณะเดียวกันถ้าพิจารณาแล้วว่า จะดำเนินการรูปแบบเดิมตามมติครม.ชุดก่อนเหมาะสมกว่านั้น ก็สามารถเสนอไปยัง ครม.ชุดใหญ่ได้ทันที โดยคาดว่าจะสรุปรูปแบบการดำเนินการและเสนอ ครม. ได้ภายใน เดือนต.ค. นี้