posttoday

ไทยเบฟฯ ปูพรมธุรกิจเครื่องดื่ม-อาหาร ลุยอาเซียน+6 ชิงตลาดครึ่งโลก

03 ตุลาคม 2562

วางยุทธศาสตร์ใหญ่ปั้น 'ทุนมนุษย์' รับอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้ารับกระแสโลกและเทคโนโลยีสู่องค์กรที่คนอยากร่วมงาน พร้อมเตรียมงบลงทุนปีละ 7,000 ล้านบาทต่อเนื่อง สู่ผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรที่ยั่งยืน

วางยุทธศาสตร์ใหญ่ปั้น 'ทุนมนุษย์' รับอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้ารับกระแสโลกและเทคโนโลยีสู่องค์กรที่คนอยากร่วมงาน พร้อมเตรียมงบลงทุนปีละ 7,000 ล้านบาทต่อเนื่อง สู่ผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรที่ยั่งยืน

เป็นธรรมเนียมประจำปีของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ที่ใช้วันที่ 3 ตุลาคมของทุกปี จัดประชุมคณะผู้บริหารองค์กร นำโดย ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจฯ และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจเบียร์

ล่าสุด ไทยเบฟฯ ประกาศความสำเร็จการดำเนินธุรกิจ พร้อมวิสัยทัศน์และทิศทางการดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในอนาคต ซึ่งจะใช้ฐานความสำเร็จของธุรกิจในปี 2563 เป็นสปริงบอร์ด เพื่อกระโดดสู่ความสำเร็จของธุรกิจระดับสากลภายในปี 2568 (Vision 2020 - 2525)

ย้ำ'โทเทิล เบฟเวอเรจ' Go Asia Go Together!!

ฐาปน กล่าวว่าสำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของไทยเบฟฯ นับจากนี้ (2020-2025) ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์หลัก คือ 1. การเติบโต 2.ความหลากหลาย 3. ตราสินค้า 4. การเข้าถึงผู้บริโภค และ 5.ความเป็นมืออาชีพ

ทั้งหมดจะเป็นส่วนผสมสำคัญในการเขย่าให้องค์กรมีความกลมกล่อม และพร้อมไปสู่เป้าหมายทางธุรกิจในภาพใหญ่ เพื่อไปสู่ตลาดอาเซียน+6 (บรูไน เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม รวมกับประเทศที่อยู่นอกอาเซียนอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่าครึ่งโลก มีประเทศที่มีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสูง เช่น เมียนมา 7.4% กัมพูชา7.2% ลาว 7.1% และเวียดนาม 6.2% เพื่อขยายตลาดให้เติบโตไปด้วยกัน หรือ Go Asia Go Together

ขณะที่งบประมาณการลงทุนของไทยเบฟ แต่ละปีจะวางไว้ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท จากในปี2562 (ปีงบประมาณ ต.ค.2561-กั.ย.2562) ใช้ไปแล้วประมาณ 3,500 ล้านบาท โดยกลยุทธ์หลัก จะยังให้ความสำคัญต่อการลงทุนผ่านการเข้าซื้อกิจการ(M&A) การบำรุงรักษา (Maintenance) และการปรับปรุงใหญ่ (Major Renovate) พร้อมให้ความสำคัญต่อการเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศที่มีพื้นที่เชื่อมต่อถึงกัน(Continental Country) ในกลุ่ม CLMVT

จากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยเบฟฯ ประสบความสำเร็จจากการขยายธุรกิจเครื่องดื่มทั้งในกลุ่มแอลกอฮอล์-นันแอลกอฮอล์ และอาหารไปแล้วในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน จากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทั้งการเข้าซื้อธุรกิจสุราในประเทศเมียนมา และ ธุรกิจเบียร์ในประเทศเวียดนาม รวมถึงการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มไทยเบฟเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุน รวมไปถึง Maxim Group ผู้ร่วมทุนอีกราย ภายใต้บริษัท Coffee Concept Thailand

"สำหรับตลาดกัมพูชา มองว่ากลุ่มเครื่องดื่มประเภทเบียร์จะเป็นตลาดหลัก ขณะที่สินค้าแบรนด์โออิชิ ถือเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดดังกล่าวในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาพร้อมหาโอกาสลงทุนในกัมพูชาซึ่งจะอยู่ภายใต้วิชัน 2025 เพื่อก้าวสู่เบอร์1ในตลาดระดับรีจินัล จากพอร์ทสินค้าเครื่องดิ่มประเภทต่างๆของบริษัทที่ขายอยู่ตั้งแต่น้ำเต้าหู้จนไปถึงสก็อตวิสกี้ และมีราคาสินค้าตั้งแค่หลัก 8 บาทไปจนถึว 8 หมื่นบาท ตอกย้ำการเป็นโทเทิล เบฟเวอเรจ" ฐาปน กล่าว

ปัจจุบันไทยเบฟ มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ราว80%และ นัน-แอลกอฮอล์ และอาหาร 20% โดยมีรายได้จากตลาดในประเทศ 65% และต่างประเทศ 35%

ขณะที่เป้าหมายภายในปี 2568 ไทยเบฟฯ จะมุ่งสู่ตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม) โดยเฉพาะในตลาดสำคัญในประเทศ เมียนมา ไทย และ เวียดนาม (MTV) จากศักยภาพของตลาด ของประชากรรวมกันมากว่า 220 ล้านคน ด้วยมองเห็นโอกาสผู้บริโคจากกำลังซื้อกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อก้าวสู่องค์กรที่ยั่งยืนภายใต้แนวคิด Stable and Sustainable Asean

นอกจากนี้ยังรวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามาในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจของไทยเบฟที่นอกเหนือจาการเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาด Share of Throat แล้ว แต่จะยังรวมถึง Share of Stomach ของผู้บริโภจากพอร์ทสินค้าของบริษัทที่มีอยู่

ขณะที่ผ่านมาไทยเบฟ ยังได้เข้าไปจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในประเทศ สิงคโปร์, ฮ่องกง และ สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการจัดโครงสร้างภายในองค์กรเพื่อรองรับการขยายธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มจากที่มีอยู่เดิม

วางเส้นทางสายอาชีพคนรับอนาคต 30 ปีข้างหน้า

ฐาปน กล่าวอีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ การให้ความสำคัญกับ Human Resource (HR) หรือ "ทุนมนุษย์" โดยบริษัทฯ จะทุ่มเทกำลังและงบประมาณการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับกระแสโลกในอนาคตไปถึงในอีก 30ปีข้างหน้า (ค.ศ.2050)ด้านเทคโนโลยี

"ตอนนี้ไทยเบฟมีพนักงานกลุ่มอายุ23 ปีและ 25 ปี ที่จะเกษียณในปี 2050 หรือในอีก30ปีข้างหน้าที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านการอัพสกิลและรีสกิลบุคลากร เพื่อปรับคนให้เข้ากับองค์กรในอนาคต ผ่านทั้งโปรแกรมการพัฒนารายบุคคล ด้านดิจิทัล แพล็ตฟอร์มต่างๆ ไปจนถึงการเติบโตในสายอาชีพ" ฐาปน กล่าว

ดร.เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มบริษัทไทยเบฟฯ มีพนักงานรวมกว่า 60,000 คน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เจนเนอเรชันวายและมิลเลเนียลส์ และจากการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา

ปัจจุบันบริษัท มีสัดส่วนผู้บริหารอาเซียนราว 20% และในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% จากการเติบโตของตลาดอาเซียน ตามวิสัยทัศน์องค์กรที่วางไว้ เพื่อหลอมรวมความเป็นองค์กรแห่งอาเซียน ภายใต้แนวทางการดำเนินองค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุด ด้วยกลยุทธ์ 1.สายอาชีพที่เติบโตรวดเร็ว 2.การสร้างเครือข่ายจำนวนมาก และ 3.กิจกรรมตอบแทนสังคมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์คนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

กลุ่มนันแอลกอฮอล์-อาหาร ขยายธุรกิจรับเทรนด์ผู้บริโภค

นายลี เม็ง ตัน กรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และ นายเลสเตอร์ ตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ ประเทศไทย ร่วมเปิดเผยว่า ธุรกิจ NAB ใน ประเทศไทยมีความความเติบโตโดยมีผลประกอบการดีขึ้น 42.6% จากปีต่อปี โดยเน้นที่ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น ในส่วนของการดำเนินธุรกิจภายใน จะมุ่งเน้นที่การขายสินค้า ด้วยมาร์จิ้นที่สูงขึ้นผ่านช่องทางที่มีกำไรที่มากขึ้น

ด้านระบบจัดการ ได้มองหาวิธีการประหยัดต้นทุนที่สูงขึ้นทั่วทั้งระบบ และในส่วนของภายนอกจะเน้นการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเห็นได้จาก ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลต่ำและไม่มีน้ำตาล ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยธุรกิจ NAB เดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยบริษัทมั่นใจว่าจะช่วยส่งเสริมธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของไทยเบฟ อย่างต่อเนื่อง

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย กล่าวว่าากลุ่มธุรกิจอาหารยังคงเดินหน้าสู่เป้าหมาย "วิสัยทัศน์ 2020" โดยในปีงบประมาณที่ผ่านมา (YTD 9 เดือน : ต.ค 61 – มิ.ย. 62) ผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมาย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งยอดขายและกำไร

โดยปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโต ได้แก่ 1.การขยายสาขาอย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด ซึ่งในปีนี้กลุ่มธุรกิจอาหารเปิดสาขาใหม่ไปทั้งสิ้น 59 สาขา (ต.ค 61 – ก.ย.62) (2) การทำการตลาดและสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำนวัตกรรมอาหาร ที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค 3.การให้ความคุ้มค่ากับผู้บริโภค คำนึงถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ

4. การให้บริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล พร้อมรองรับการขยายตัวของตลาดเดลิเวอรี่กลุ่มธุรกิจอาหารที่ตอบสนองความต้องการด้านความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคในยุคนี้ และ5. การมุ่งเน้นพัฒนาด้านต่าง ๆ ภายในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ของงานให้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจอาหารของไทยเบฟฯ ที่ดำเนินการทั้่งสิ้นมีอยู่ 23 แบรนด์ เปิดให้บริการทั้งสิ้น 620 สาขา แบ่งเป็นธุรกิจร้านอาหารควิกเซอร์วิสเรสเตอรองท์ (QSR) เคเอฟซี จำนวน 305 สาขา ฟู้ดแอนด์เอเชีย 49 สาขา และร้านโออิชิ 266 สาขา โดยกลุ่มธุรกิจร้านอาหารปี2562 (ต.ค.2561-มิ.ย.2562)มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 11,649 ล้านบาท เติบโต 24.3% กำไรสุทธิ 470 ล้านบาท โต13.3% จากปีก่อน