posttoday

สับเละ!!แผนฟื้นฟูบินไทยไร้น้ำยา ปี'63 จ่อขาดทุนต่อ

03 ตุลาคม 2562

'ถาวร'ลั่น การบินไทยถึงจุดวิกฤติ ปีนี้ขาดทุนต่อทะลุ 1 หมื่นล้านบาท ย้ำแผนฟื้นฟูไร้น้ำยา-ทำไม่ได้จริง เรียกฝ่ายบริหารถกเครียด 10 ต.ค. นี้

'ถาวร'ลั่น การบินไทยถึงจุดวิกฤติ ปีนี้ขาดทุนต่อทะลุ 1 หมื่นล้านบาท ย้ำแผนฟื้นฟูไร้น้ำยา-ทำไม่ได้จริง เรียกฝ่ายบริหารถกเครียด 10 ต.ค. นี้

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนมีความกังวลถึงการดำเนินงานของการบินไทยว่าจะไม่สามารถดำเนินแผนฟื้นฟูได้ตามเป้าหมาย ที่ผ่านมาคณะทีมบริหารชุดใหม่ทำงานผ่านมา 11-12 เดือนแล้ว แต่ยังพบว่าไม่สามารถเพิ่มรายได้หรือลดยอดขาดทุนลงได้เลย โดยเฉพาะในปี 2563 นั้นมีแนวโน้มที่จะขาดทุนเกิน 10,000 ล้านบาท ภายหลังจากผลดำเนินงานช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้พบว่าขาดทุนรวมกันไปแล้วมากกว่า 6,000 ล้านบาท ดังนั้นนอกจากประเมินผลงานของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี)แล้ว คณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)ต้องประเมินผลงานของตัวเองด้วย โดยเฉพาะประธานบอร์ดนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ซึ่งรู้อยู่แล้วการบินไทยมีปัญหาอันหนักอึ้ง ทั้งตัวเลขขาดทุนสะสมหลายหมื่นล้านบาทและตัวเลขหนี้ที่มีมากกว่า 140,000 ล้านบาท

“วันนี้การบินไทยอยู่ในจุดวิกฤติแล้ว สภาพทางการเงินมันแย่แล้ว ต้องถาม ประธานบอร์ดว่าได้ตื่นตัวกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมามีการจับเข่าคุยกันอย่างจริงจังหรือไม่ ส่วนการบ้านที่ตนได้เคยมอบหมายไปให้ชี้แจงเรื่องแผนจัดซื้อเครื่องบินใหม ก็ยังไม่มีคำตอบที่เป็นทางการออกมาชัดเจน ทั้งที่ตนยังมีการบ้านอีกมากมายที่จะมอบให้การบินไทยไปทบทวน ทั้งนี้ตนไม่สามารถปลดใครออกได้ แต่ตนจะเป็นผู้กำกับดูแลให้สายการบินแห่งชาติกลับมาเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศอีกครั้ง ” นายถาวรกล่าว

สำหรับแผนการกู้เงินเพิ่มในปี 2563 วงเงิน 50,000 ล้านบาทที่ได้เสนอไปยังกระทรวงการคลัง นั้น การจะขอกู้เงินหรือขอเพิ่มทุนให้กับกิจการนั้นต้องมีขั้นตอนที่เกี่ยวข้องหลายส่วนทั้งด้านนโยบายและด้านผู้ถือหุ้น ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพราะการบินไทยต้องระลึกเสมอว่าการกู้เงินผ่านภาครัฐดังกล่าวนั้นเป็นเงินของประชาชนด้วยเช่นกัน หากเกิดข้อผิดพลาดต้องมีคนรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังต้องดูด้วยว่าแผนฟื้นฟู สร้างรายได้ให้กับบริษัทมันมีความน่าเชื่อถือว่าจะทำได้จริงหรือไม่ เพราะมันมีเงื่อนไขเรื่องศักยภาพการใช้หนี้เงินกู้อยู่ด้วย ต้องสามารถใช้คืนได้ด้วย

นายถาวร กล่าวว่า ส่วนเรื่องความคืบหน้าการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำ ขณะนี้ได้ขอให้การบินไทยกลับไปทบทวนแผนจัดซื้อพร้อมวิเคราะห์ข้อเสนอแนะของตนเพื่อสรุปข้อมูลนำกลับมารายงานที่กระทรวงคมนาคม

อย่างไรก็ตามการบ้านที่ได้มอบหมายไปแล้วการบินไทยยังตอบไม่ได้คือ การหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาซื้อเครื่องบินใหม่ มูลค่า 156,000 ล้านบาท แผนดำเนินกิจการในระยะยาวหลังจากมีเครื่องบินล็อตแรกส่งมอบ 25 ลำ ตลอดจนเรื่องแผนการทำตลาดเพื่อสู้กับสายการบินต้นทุนต่ำ (โลวฺ์คอสต์) เนื่องจากการบินไทยจะปรับแผนทางธุรกิจ โดยนำเครื่องบินล็อตแรก (25 ลำ) มาเปิดเส้นทางบินใหม่ 15 เส้นทาง ระยะทางราว 5-6 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเส้นทางที่สายการบินต้นทุนต่ำทำการบินและมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว ซึ่งการบินไทยตอบว่าจะใช้กลยุทธ์การตลาดแบบสายการบินพรีเมี่ยมงานบริการเหนือระดับ เพื่อช่วงชิงลูกค้าจากสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ยังคงไม่มีรายละเอียดอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ดังนั้นในวันที่ 10 ต.ค. นี้ตนจะนัดหารือกับกลุ่มผู้บริหารระดับสูงการบินไทยทั้งด้าน ประธานบอร์ด กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้อำนวยการใหญ่สายงานต่างๆ เพื่อพูดคุยถึงปัญหาและศักยภาพทางธุรกิจขององค์กรนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่า การบินไทยได้จัดทำแผนการกู้เงินประจำปี 2563 ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พิจารณาจำนวน 50,800 ล้านบาท แบ่งเป็น ทุนหมุนเวียนในการดําเนินกิจการทั่วไป วงเงิน 32,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องวงเงิน 24,800 ล้านบาท โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้มีมติร่วมกันว่า ยังมีความกังวลต่อปัญหาของการบินไทย ที่กำลังตกอยู่ในสภาพ ขาดสภาพคล่องและมีเงินสดไม่เพียงพอในการดำเนินงาน ทั้งยังจะมีการก่อหนี้เพิ่มในการซื้อเครื่องบินใหม่ ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นควรให้ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการบินไทยไปพิจารณาดําเนินการตามความเหมาะสมต่อไป