posttoday

"อนุทิน" ลั่นไม่คิดหักกับ "ซีพี" จี้มาเซ็นรับงานสร้างรถไฟเชื่อมสนามบิน

03 ตุลาคม 2562

รองนายกฯ ยันไม่คิดหักกับกลุ่มซีพี เชื่อมาเซ็นเดินหน้าสร้างรถไฟเชื่อม3สนามบินแน่นอนไม่งั้นโดนแบล็กลิสต์

รองนายกฯ ยันไม่คิดหักกับกลุ่มซีพี เชื่อมาเซ็นเดินหน้าสร้างรถไฟเชื่อม3สนามบินแน่นอนไม่งั้นโดนแบล็กลิสต์

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรับผิดชอบกระทรวงคมนาคม ชี้แจงกรณีมีข่าวตนหักกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CPH) หลังจากให้กลุ่มบริษัทดังกล่าวผู้ชนะประมูล
โครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้ต้องมาเซ็นรับงานภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้ ว่า ไม่เป็นความจริง ซึ่งตนในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้จำเป็นต้องทำงานหากอยู่เฉยๆจะจ้างตนมาทำไม และกลุ่ม CPH ก็ชนะการประมูลมาจะครบปีแล้ว จึงจำเป็นต้องเดินหน้าเสียที

นายอนุทิน ระบุอีกว่า เมื่อเอกชนเสนอราคาต่ำสุดถูกกว่าคู่แข่งประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ตนพร้อมจะช่วยเหลือฝ่ายเอกชนแต่ขอให้เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้ เนื่องจากหากเซ็นรับงานไปทำแล้วจะได้ดำเนินการต่อไป

"การดำเนินการให้ CPH มาเซ็นรับงาน มันเป็นการทำเพื่อชาติ เพราะถ้ารถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังคาราคาซังกันอยู่ จะไปลดทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน ที่จะมาลงทุนในโครงการ EEC โครงการทั้งหมดจะเกิดปัญหาทันที ดังนั้น ผมจำเป็นต้องทำ โครงการอื่นที่เกี่ยวกับ EEC ภาครัฐเดินหน้าเต็มที่ การที่เราออกจดหมายเรียกกลุ่ม CPH มาเซ็นสัญญา ก็เท่ากับทางนั้นรับทราบไปหมด"

เมื่อถามว่าทางกลุ่ม CPH ต้องการให้รัฐส่งมอบพื้นที่ครบ 100% จึงจะลงนามสัญญาก่อสร้างหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตามสัญญากำหนดเรื่องการส่งมอบพื้นที่ไว้แค่ 50% และตอนนี้รัฐก็ทำได้ตามสัญญา ถ้าจะขอเพิ่มไปกว่านี้ การรถไฟที่ดูแลรับผิดชอบต้องไม่ยอมแน่นอน

ส่วนที่มีการบอกว่ากลุ่ม CPH กำลังหาแหล่งทุน เรื่องนั้นตนไม่ทราบเพราะเป็นเรื่องของเอกชน แต่ส่วนตัวมองว่าทางผู้ชนะการประมูลแค่ต้องการเงื่อนไขที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพฝ่ายเอกชนทำโครงการนี้ได้แน่นอน และขอยืนยันว่าภาครัฐจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องตาม TOR

“คิดว่าวันที่ 15 ตุลาคม กลุ่ม CPH มาลงนามสัญญาก่อสร้างแน่นอน เพราะถ้าหากไม่มา จะต้องโดนแบล็กลิสต์จากรัฐ เป็นการเสียชื่อบริษัท ยิ่งกว่านั้น มันหมายถึงว่านอกจาก CP แล้ว กลุ่มบริษัทที่ร่วมทุนทั้ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก็จะได้รับผลกระทบในการประมูลงานรัฐในอนาคตด้วย เรียกว่าผลเสียมหาศาลจริงๆ”