posttoday

คิ๊กอ๊อฟ!! รถเมล์ไร้เงินสด 3,000 คัน เพิ่มช่องทางจ่ายค่าโดยสารผ่านบัตร-มือถือ

01 ตุลาคม 2562

ขสมก.เริ่มให้บริการรับชำระค่าโดยสารไร้เงินสดผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ นำร่องรถเมล์ 3,000 คัน 129 เส้นทางทดลองใช้ก่อน 1 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้

ขสมก.เริ่มให้บริการรับชำระค่าโดยสารไร้เงินสดผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ นำร่องรถเมล์ 3,000 คัน 129 เส้นทาง ทดลองใช้ก่อน 1 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เปิดเผยว่า ขสมก.ได้จัดทำระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์นำมาให้บริการ 129 เส้นทาง บนรถเมล์ ขสมก. 3,000 คัน รถเมล์ทุกคันจะสามารถจ่ายได้แบบไม่ต้องใช้เงินสด ด้วยบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ และการ สแกน QR Code เพื่อชำระค่าโดยสารผ่าน กรุงไทย NEXT หรือ Mobile Banking รวมทั้งบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตของทุกธนาคาร ที่มีสัญลักษณ์ Contactless และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDC ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 500,000 คน/วัน และเที่ยวเดินทางมากกว่า 1,000,000 ครั้งต่อวัน มีผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 55,000 คนต่อวัน

ทั้งนี้จะเริ่มให้บริการระบบไร้เงินสดไป 1 ปี เพื่อให้ผู้โดยสารมีความคุ้นชินมากขึ้น รวมทั้งประเมินปัญหาอุปสรรคในการใช้งาน หากพบปัญหาจะปรับแก้ให้สอดคล้องกับการใช้งานมากขึ้น หากประสบความสำเร็จจะใช้เวลาทดลองน้อยกว่า 1 ปี หากไม่ประสบความสำเร็จจะขยายเวลาทดลองเพิ่มขึ้น โดยยึดผู้โดยสารที่ใช้บริการเป็นหลัก โดยในอนาคตหากระบบชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสดประสบความสำเร็จ หรือนำระบบอีทิคเก็ตมาใช้งานได้แล้ว ขสมก. ปรับเปลี่ยนชำระค่าโดยสารโดยที่ไม่ต้องมีพนักงานเก็บค่าโดยสารอีกต่อไป ซึ่งในแผนฟื้นฟู ขสมก.ใช้เวลา 3 ปี

“ระบบไร้เงินสดทำให้ผู้โดยสารมีความปลอดภัยและสะดวก ไม่ต้องพกเหรียญ หรือธนบัตรที่มีจำนวนเงิน 500 บาท หรือ 1,000 บาทในการชำระค่าโดยสาร ทำให้บางครั้งลำบาก อีกทั้งปัจจุบันผู้โดยสารนิยมใช้บัตรในการชำระมากขึ้น”นายสุระชัยกล่าว

นายสุระชัย กล่าวว่า ในเบื้องต้นผลิตบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ไว้ 300,000 ใบ บัตรมีวงเงิน 50 บาท จำหน่ายบนรถเมล์ทุกคันเติมเงินได้สูงสุด 1,000 บาท ขณะเดียวกันผู้โดยสารยังชำระค่าโดยสารด้วยเงินสดได้เหมือนเดิม โดยใช้ควบคู่กัน เนื่องจากกำลังเปลี่ยนผ่านระบบเงินสดไปสู่ไร้เงินสด โดยไม่ต้องการให้ผู้โดยสารเดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบในการใช้ จึงจำเป็นต้องมีพนักงานเก็บค่าโดยสารที่คอยยืนฉีกตั๋วโดยสารสำหรับผู้โดยสารที่ยังใช้งาน และสามารถใช้บัตรชำระค่าโดยสารผ่านเครื่อง EDC ด้วยเวลา 1-2 วินาทีแล้วเสร็จ

ส่วนปัญหาอาจมีบางจุดที่อับสัญญาณระบบอินเทอร์เน็ตใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์แตะเครื่อง EDCชำระค่าโดยสารไม่ได้ เช่น ใต้สะพานหรือในอุโมงค์ทางลอด ซึ่งต้องแก้ไขต่อไป

สำหรับอนาคตจะนำระบบไร้เงินสดมาใช้กับรถร่วม ขสมก. หรือไม่นั้น ปัจจุบันรถร่วมอยู่ภายใต้สังกัดความดูแลของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) แต่ถ้ารถร่วมรวมตัวเป็นหมู่คณะต้องการจะใช้ระบบไร้เงินสดเชื่อว่าธนาคารกรุงไทยยินดีพัฒนาระบบไร้เงินสดไปใช้กับรถร่วมแน่นอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร