posttoday

'พาณิชย์'ระดมสมองเตรียมพร้อมฟื้นเอฟทีเอไทย-อียู

23 กันยายน 2562

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ขอเวลา 3 เดือน เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนเดินหน้าเจรจาฟื้นเอฟทีเอไทย-อียู ชี้มีโอกาสขยายตลาด ยานยนต์ - สิ่งทอ -ยาง สินค้าเกษตร

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ขอเวลา 3 เดือน เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนเดินหน้าเจรจาฟื้นเอฟทีเอไทย-อียู ชี้มีโอกาสขยายตลาด ยานยนต์ - สิ่งทอ -ยาง สินค้าเกษตร

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเปิดการสัมมนา "โอกาสและความท้าทายของไทยในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป" ว่า การเปิดเวทีสัมมนาครั้งนี้เพื่อขานรับนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่มอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมการเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งกรมฯได้ดำเนินการแบ่งเป็น 2 ด้านหลัก คือ 1. ด้านการศึกษาวิจัยได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ทำการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2562

2.ด้านการหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งกรมฯ ให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก เกษตรกร และภาคประชาสังคม เพื่อให้ได้ข้อมูลความเห็นและมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ให้รอบด้านและครบถ้วนมากที่สุด โดยเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรมฯ ได้เชิญหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆไปบ้างแล้ว แต่เป็นการหารือในกลุ่มเล็กๆ ฃ

การจัดสัมมนาในวันที่ 23 กันยายนนี้ ถือเป็นการจัดประชุมกลุ่มใหญ่ที่เชิญทุกภาคส่วนเข้าร่วมพร้อมกัน และกรมฯ ยังมีแผนที่จะเดินสายจัดสัมมนารับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาคต่างๆ ของไทยในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน นี้ด้วย หลังจากนั้นจะรวบรวมผลการศึกษาและรับฟังความเห็นเสนอระดับนโยบายเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจเรีองการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป ต่อไป ซึ่งคาดว่า จะสอดคล้องกับช่วงเวลาที่สหภาพยุโรปแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่ที่จะตัดสินใจหรือมีนโยบายเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับไทย

นางอรมน กล่าวว่า สหภาพยุโรป (อียู) ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและอำนาจซื้อสูง ด้วยประชากรกว่า 512 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 2 ของไทย การฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2557 จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าการลงทุนของไทย โดยเฉพาะในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอ ยางและผลิตภัณฑ์ อาหารและสินค้าเกษตรต่างๆ เป็นต้น ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าในปัจจุบัน รวมทั้งน่าจะช่วยเพิ่มแต้มต่อทางการแข่งขันของไทยที่ปัจจุบันหายไป จากการที่ประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และบราซิล เป็นต้น มีเอฟทีเอกับอียูแล้วแต่ไทยยังไม่มี

อย่างไรก็ดี เนื่องจาก เอฟทีเอที่อียูทำกับประเทศต่างๆ มีมาตรฐานสูง ทั้งในส่วนการเปิดตลาดสินค้า บริการและการลงทุน ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าอื่นๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ เป็นต้น จึงต้องพิจารณาเตรียมความพร้อมและการช่วยเหลือเยียวยาอย่างรอบคอบ หากไทยจะฟื้นการเจรจา ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ มีผู้สนใจจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกว่า 300 คน ที่จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นประโยชน์กับการเตรียมการของไทย รวมถึงโอกาสและความท้าทายของการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู

ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,290.76 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 25,041.60 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไทยนำเข้า 22,249.16 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม-และเภสัชกรรม ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2562 ไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 21,878.06 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 12,060.14 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้า 9,817.92 ล้านเหรียญสหรัฐ