posttoday

ส่งออกไทย 8 เดือนแรกของปี ’62 หดตัว 2.2%

20 กันยายน 2562

แต่การเกินดุลการค้ายังสูง เป็นแรงกดดันการแข็งค่าเงินบาท

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า ตลอดจนค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 ให้หดตัวที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี มูลค่าส่งออกไทยเดือนสิงหาคม 2562 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวลึกในสินค้าส่งออกหลัก

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังตลาดสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวเป็นบวกสวนทางกับภาพรวม สะท้อนถึงผลบวกจากสงครามการค้าที่มีการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากตลาดจีน ในขณะที่การส่งออกทองคำในเดือนส.ค. ยังคงขยายตัวอยู่ในระดับสูงตามราคาทองคำในตลาดโลกที่สูงขึ้น ซึ่งหากหักมูลค่าการส่งออกทองคำ การส่งออกไทยในเดือนส.ค. 62 จะหดตัวที่ร้อยละ 9.8 ต่อปี

จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ยังมีความต้องการทองคำในตลาดโลกในระดับสูง โดยราคาทองคำในตลาดโลกยังมีทิศทางสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่า ในเดือนก.ย. 62 การส่งออกทองคำ ยังคงเป็นแรงหนุนต่อมูลค่าการส่งออกรวมของไทย

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แม้การส่งออกทองคำจะขยายตัวในระดับที่สูงต่อเนื่อง แต่คงไม่เพียงพอที่ชดเชยผลกระทบทางลบจากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อปริมาณการค้าโลก และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี การส่งออกของไทยในปี 2562 มีแนวโน้มหดตัวเข้าหากรอบล่างของประมาณการส่งออกไทยที่ -2.0 ถึง 1.0

นอกจากนี้ แม้ว่าการส่งออกโดยรวมจะหดตัวลง ดุลการค้ายังเกินดุลในระดับสูง เป็นแรงหนุนค่าเงินบาทให้แข็งค่า การเกินดุลการค้าที่ยังคงอยู่ในระดับสูงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้าจากทองคำ โดยนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 62 ที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นทำให้ไทยมีการส่งออกทองคำมากกว่าการนำเข้า ซึ่งหากหักผลของการส่งออก-นำเข้าทองคำ การเกินดุลการค้าจะหายไปราวครึ่งหนึ่ง และในเดือนก.ค. 62 มีการขาดดุลการค้า

ดังนั้น การเกินดุลการค้าโดยรวมที่ยังอยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ความต้องการสภาพคล่องเงินบาทยังมีอยู่มาก และหนุนให้ค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง