posttoday

คนไทยทำใจ!! เศรษฐกิจปีหน้ายังไม่ไปไหน ส่งออก-ท่องเที่ยวไม่กระเตื้อง

19 กันยายน 2562

สมาคมค้าปลีกไทย ชี้ 2 ปัจจัย สงครามการค้ายังไม่คลี่คลาย-บาทแข็ง หยวนอ่อนค่า ฉุดสองเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ส่งออก และ การท่องเที่ยว ระบุกำลังซื้อนักท่องเที่ยวจีนในไทย ร่วง20% สิ้นปีได้เห็นจีดีพีค้าปลีกแตะ 3%

สมาคมค้าปลีกไทย ชี้ 2 ปัจจัย สงครามการค้ายังไม่คลี่คลาย-บาทแข็ง หยวนอ่อนค่า ฉุดสองเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ส่งออก และ การท่องเที่ยว ระบุกำลังซื้อนักท่องเที่ยวจีนในไทย ร่วง20% สิ้นปีได้เห็นจีดีพีค้าปลีกแตะ 3%

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมค้าปลีกไทย กล่าวในงาน TRA Retail Forum2019 จัดโดย VendaAsean 2019 ว่าเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่อเนื่องถึงในปีหน้า คาดกำลังซื้อจะยังฝืดเคือง จาก 2 ปัจจัยหลักกระทบ คือ 1.สงครามการค้าโลก(เทรด วอร์) ระหว่างผู้นำเศรษฐกิจโลกหมายเลขหนึ่งและสอง สหรัฐอเมริกา และ จีน ที่ยังไม่มีท่าทีผ่อนคลาย

และ 2.เงินบาทแข็งค่า และ การลดค่าเงินหยวนของจีน ที่ส่งผลกระทบตรงกับภาคการส่งออกของไทย มีรายได้กลับเข้าประเทศลดลง โดยเฉพาะหากนำสินค้าไทยเปรียบเทียบกับจีนแล้ว จะมีอัตราแพงขึ้นอัตรา 20% จากปัจจุบันเงินหยวนจีนลดค่าลง 13-14% ส่วนเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น 6-7%

“โดยปกติ สินค้าไทยสู้กับสินค้าจีนลำบากอยู่แล้วในด้านจำนวนการผลิต และจากสถาการณ์การส่งออกของไทยล่าสุดที่ติดลบไปแล้ว จะยิ่งทำให้ภาคการส่งออกไทยลำบากขึ้น” นายวรวุฒิ กล่าว

ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ของไทย อีกหนึ่งเครื่องยนต์เศรษฐกิจ สำคัญ มีรายได้จากท่องเที่ยวเป็นอันดับ 4 ของโลก และ เป็นอันดับ 10 ของโลกด้านจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเริ่มชะลอตัวเช่นกัน ด้วยรายได้หลักกว่า 80% มาจากนักท่องเที่ยวจีน ที่เริ่มลดจำนวนลง จากปัจจัยเงินบาทแข็งและเงินหยวนอ่อนค่า ทำให้นักท่องเที่ยวจีนต้องจ่ายสินค้าจากไทยแพงขึ้น 20%

ด้านภาพรวมค้าปลีกไทยในปี 2562 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโต(จีดีพี) ไม่โตไปกว่า จีดีพี ของประเทศ คาดอยู่ที่ประมาณ 3% จากปกติในช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยเติบโต 8-9% และมีอัตราเติบโตกว่า จีดีพี ประเทศตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ จีดีพีค้าปลีกไทย ยังมีอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศเพื่อนบ้าน มีอัตราเติบโตค้าปลีกเฉลี่ย 9-10% ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เช่นกัน จากขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมค้าปลีกไทย ในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถกระตุ้นการจับจ่ายผู้บริโภคให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้มากขึ้น รวมถึงปัญหาโครงสร้างกำแพงภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยของไทยในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 30% สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ที่ 10%