posttoday

ราคาใบอนุญาตคลื่นความถี่ มีผลต่อการพัฒนา 5G ไทยอย่างไร?

18 กันยายน 2562

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ราคาค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (operator) ต้องจ่ายสำหรับการพัฒนา 5G เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนด้านโครงข่ายของ operator ในระยะแรก โดยราคาค่าใบอนุญาตที่ไม่สูงจนเกินไป จะช่วยให้ operator สามารถขยายโครงข่ายได้ตามแผนที่วางไว้ รวมถึงกำหนดราคาแพ็กเกจ 5G ได้เหมาะสมและส่งผลบวกต่อจำนวนผู้เริ่มใช้บริการ 5G (adoption rate) ในที่สุด

ทั้งนี้ อีไอซีได้ทำการประเมินมูลค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่สำหรับพัฒนาเทคโนโลยี 5G โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่ 1.มูลค่าใบอนุญาตเทียบเคียงกับราคาจัดสรรคลื่น 700MHz (มูลค่ารวมทั้งหมด 1.1 – 1.3 แสนล้านบาท) จะส่งผลให้ผู้เริ่มใช้บริการ 5G หลังจากปีที่ 5 มีจำนวนราว 60% ของจำนวนผู้ใช้งานแบบรายเดือนทั้งหมด

2. มูลค่าใบอนุญาตประเมินจากมูลค่าคลื่นย่านความถี่กลางของประเทศในกลุ่มอาเซียน (3-4 หมื่นล้านบาท) ส่งผลให้ผู้เริ่มใช้บริการ 5G หลังจากปีที่ 5 มีจำนวนราว 70% และ 3. มูลค่าใบอนุญาตประเมินจากมูลค่า 50% ของราคาประมูลคลื่น 1800MHz ในปี 2015 ที่มีการแข่งขันสูง (มากกว่า 2 แสนล้านบาท) ส่งผลให้ adoption หลังจากปีที่ 5 อยู่ที่ราว 50%

การกำหนดราคาคลื่นความถี่ที่เหมาะสมจึงเป็นโจทย์สำคัญของ กสทช. เพราะจะต้องรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของรัฐในแง่การจัดเก็บรายได้จากค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่และระดับราคาที่จูงใจในการพัฒนาโครงข่าย 5G ของ operator ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการสื่อสารและการส่งผ่านข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว

ผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม EIC Online: www.scbeic.com