posttoday

ไชโย!! รัฐตรึงราคาเบนซิน-ดีเซล 3 เดือน อุ้มค่าครองชีพประชาชนช่วงวิกฤตซาอุฯ

17 กันยายน 2562

กบง.ไฟเขียวอุ้มราคาขายปลีกน้ำมัน เบนซิน-ดีเซล ควักเงินกองทุนน้ำมันฯ 2,400 ล้านบาท พยุงราคาไม่ให้เปลี่ยนแปลง เบื้องต้น 3 เดือน สร้างความเชื่อมั่นประชาชน ช่วงวิกฤติซาอุฯ

กบง.ไฟเขียวอุ้มราคาขายปลีกน้ำมัน เบนซิน-ดีเซล ควักเงินกองทุนน้ำมันฯ 2,400 ล้านบาท พยุงราคาไม่ให้เปลี่ยนแปลง เบื้องต้น 3 เดือน สร้างความเชื่อมั่นประชาชน ช่วงวิกฤติซาอุฯ

นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่าที่ประชุมมีมตินำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาใช้บรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อป้องกันภาวะการขาดแคลน และการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง โดยปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ กลุ่มน้ำมันเบนซิน 1 บาทต่อลิตร และกลุ่มดีเซล 60 สตางค์(สต.)ต่อลิตร  ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน มีผลตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 62 

ทั้งนี้ผลจากการปรับลดเงินกองทุนน้ำมันฯดังกล่าวส่งผลให้สถานะบัญชีน้ำมันลดลงติดลบ  813  ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีเงินไหลเข้า 1,210  ล้านบาท   ในขณะที่ล่าสุดกองทุนน้ำมันฯ มีฐานะสุทธิ 39,402 ล้านบาท

"หากราคาน้ำมันดิบดูไบยังทรงตัวในระดับ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคาขายปลีกในประเทศจะไม่เปลี่ยนแปลงหลังมีการตรึงราคาจากการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯไปดูแล  ซึ่งจะดูแลเป็นช่วงๆไป โดยอย่างน้อยช่วง 3 เดือนนี้ จะสามารถรักษาระดับราคาขายปลีกในประเทศไว้ได้ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ “นายสนธิรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตามที่ประชุมรับทราบมาตรการในด้านการจัดหาน้ำมัน หลังโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดีอารเบียถูกโจมตีโดยจะนำเข้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ประเทศโอมาน  เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากซาอุดิอาระเบียประมาณ 170,000 บาร์เรลต่อวัน

โดย ณ วันที่ 16 กันยายน 2562 ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือและปริมาณสำรองของประเทศ มีปริมาณรวม 6,407 ล้านลิตร เพียงพอใช้ได้ 54 วัน และปริมาณ ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) สำหรับการใช้ในภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง สามารถเพียงพอใช้ได้ 12 วัน ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยาวนานเกินกว่า 12 วัน กรมธุรกิจพลังงานจะจัดสรรแอลพีจี ให้กับภาคครัวเรือนก่อนเป็นลำดับแรก