posttoday

ชงโมเดล โรงไฟฟ้าชุมชน 2-3เมกะวัตต์  ชูพืชพลังงาน หญ้าเนเปียร์ ลงทุน 200-300  ล้านบาท

17 กันยายน 2562

เปิดเวทีระดมความเห็นโรงไฟฟ้าชุมชนรอเสนอรมว.พลังงานก่อนเคาะ  ยึดหลักต้องผลิตใช้ในชุมชน ผนึกรัฐ –ชุมชน –เอกชน ร่วมลงทุน  กางพื้นที่เป้าหมายตั้งโรงไฟฟ้าใหม่ได้ 4,125  เมกะวัตต์

เปิดเวทีระดมความเห็นโรงไฟฟ้าชุมชนรอเสนอรมว.พลังงานก่อนเคาะ  ยึดหลักต้องผลิตใช้ในชุมชน ผนึกรัฐ –ชุมชน –เอกชน ร่วมลงทุน  กางพื้นที่เป้าหมายตั้งโรงไฟฟ้าใหม่ได้ 4,125  เมกะวัตต์

นายสมพงษ์   ปรีเปรม  ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  เปิดเผยในงาน “ชวพม...ชวนคุย ตอน โรงไฟฟ้าชุมชน...ประชาชนได้อะไร?”  จัดโดยชมรมวิทยาการพลังงานคนรุ่นใหม่ (ชวพม.)  ว่า โรงไฟฟ้าชุมชนต้องยึดหลักผลิตเองใช้เองเป็นหลัก  และต้องให้ชุมชนมีส่วนรวม โดยรูปแบบที่กฟภ.กำหนดไว้  1 ชุมชน 1 โรงไฟฟ้า   ใช้เชื้อเพลิงจากไม้พืช  หรือหญ้าเนเปียร์ มีขนาดโรงไฟฟ้าที่ 2-3 เมกะวัตต์  ใช้เงินลงทุน 222 -390 ล้านบาท ราคารับซื้อค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 5.22-5.84  บาทต่อหน่วย

สำหรับพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนที่เหมาะสมนั้น หากประเมินจากศักยภาพสายส่งที่รองรับได้ จะสามารถตั้งโรงไฟฟ้าได้ รวม 4,125  เมกะวัตต์  อย่างไรก็ตามการพิจารณารับซื้อโรงไฟฟ้าต้องไม่ใช่การประกวดราคา    มีการจัดโซนนิ่งรับซื้อเชื้อเพลิงเฉพาะในชุมชนก่อน  และมีหน่วยงานรัฐร่วมถือหุ้นอย่างน้อย40%

ด้านนายนที  สิทธิประศาสน์  ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(เอสพีพี) ชีวมวล  กล่าวว่า  การดำเนินงานจะต้องมีกฏหมายรองรับโดยรูปแบบลงทุนคือ ชุมชน 30% เอกชน  70% และเชื้อเพลิงจะต้องไม่ใช้พืชเกษตรที่ได้จากการแปรรูปแล้ว เช่น แกลบจากโรงสีข้าว กากอ้อยจากโรงงานน้ำตาล โดยต้องเน้นใช้จากเศษวัสดุทางการเกษตรที่ไม่เป็นเชิงพาณิชย์มาก่อนเช่น ซังข้าวโพด ใบอ้อย ฟางข้าว ฯลฯ โดยราคารับซื้อไฟควรอยู่ที่มากกว่า 4.24 บาทต่อหน่วย

นายพัฒนา  แสงศรีโรจน์    รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์   การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)  กล่าวว่า  การตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนต้องอยู่ในพื้นที่ห่างไกล  ที่ไม่จำเป็นต้องสร้างสายส่ง หรือระบบจำหน่ายก็ได้ และใช้ทรัพยากรในพื้นที่มาใช้หมุนเวียน  แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ หากสร้างโรงไฟฟ้า1,000 เมกะวัตต์ แบบเดินเครื่องตลอด24ชม. จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า หน่วยละ 20 สต.  ซึ่งจะต้องยอมรับภาระค่าไฟที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้

นายรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ประธานมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน  กล่าวว่า โรงไฟฟ้าชุมชนจะต้องให้ชุมชนถือหุ้น100%  เพราะเป็นของชุมชน   โดยเงินลงทุนไม่ต้องใช้มาก แค่ 3-6 ล้านบาท เพราะเป็นโรงไฟฟ้าในระดับหมู่บ้าน  ในพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า   ในขณะที่แหล่งเงินทุนจะขอสนับสนุนจากกองทุนไฟฟ้ามายืมก่อนภายในเวลา 6 ปี เมื่อมีรายได้ก็ทยอยใช้คืนในภายหลัง

นางมีนา  ศุภวิวรรธน์  ผู้จัดการสถาบันวิทยาการพลังงาน  กล่าวว่า  โรงไฟฟ้าชุมชน เป็นหนึ่งในนโยบายด้านพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าฯ และลดภาระค่าใช้จ่าย มีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน อย่างไรก็ตามจะรวบรวมประเด็นในการเสวนาครั้งนี้นำเสนอต่อ นายสนธิรัตน์   สนธิจิรวงศ์   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ต่อไป