posttoday

'พาณิชย์'ทำลายสินค้าเถื่อน ละเมิดลิขสิทธิ์มูลค่ากว่า 550 ล้านบาท

12 กันยายน 2562

"จุรินทร์" เป็นประธานทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากว่า 10 ล้านชิ้น เร่งสร้างความเชื่อมั่นการดำเนินธุรกิจในไทย หวังแนวโน้มดีขึ้นหลังทุกฝ่ายร่วมมือกัน

"จุรินทร์" เป็นประธานทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากว่า 10 ล้านชิ้น เร่งสร้างความเชื่อมั่นการดำเนินธุรกิจในไทย หวังแนวโน้มดีขึ้นหลังทุกฝ่ายร่วมมือกัน

กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่คดีถึงที่สุดแล้ว ณ ลานอเนกประสงค์ กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 7 กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล) เอกอัครราชทูต และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานต่างประเทศ ศิลปิน นักแสดง สื่อมวลชน ร่วมด้วย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ของกลางที่นำมาทำลายมีจำนวน10,620,825 ชิ้น หากคิดเป็นมูลค่าตามราคาของจริงประมาณ 550 ล้านบาท ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และพยายามดำเนินการป้องกันไม่ให้ของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่คดีถึงที่สุดแล้ว ถูกนำกลับมาขายในตลาดได้อีก

สำหรับการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญารัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา   ซึ่งมีผู้แทนจาก 17 หน่วยงาน เป็นอนุกรรมการ โดยปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งตลาดที่มีการขายสินค้าละเมิด (Physical Markets) และตลาดออนไลน์ (Online Markets) รวมทั้งเข้มงวดป้องปรามการนำเข้าหรือออกทางช่องทางผ่านแดนตลอดจนทำความเข้าใจ และทำความตกลงกับเจ้าของพื้นที่ ให้เพิ่มการกวดขันมิให้มีการจำหน่ายสินค้าละเมิดในพื้นที่ของเจ้าของพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภท

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมว่า การละเมิดในท้องตลาดและ การละเมิดบนอินเทอร์เน็ตมีปริมาณลดลง ซึ่งผลการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องนี้ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ค้า นักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะภาคเอกชนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาทั้งไทยและต่างประเทศ

ทั้งนี้การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา อย่างจริงจัง จะเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ ระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเข้มแข็งเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป