posttoday

กระทรวงพาณิชย์ ขยายตลาดสินค้าอุตสาหกรรมจังหวัดภาคภาคตะวันออก-เหนือเจาะเพื่อนบ้าน

06 กันยายน 2562

สนค. ต่อยอดหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าสินค้าอุตสาหกรรม 4.0 จาก CLMVT สู่สากล ประเดิมเชื่อมโยงสินค้าผลไม้แปรรูป-สมุนไพร เข้าตลาด กัมพูชา เมียนมา

สนค. ต่อยอดหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าสินค้าอุตสาหกรรม 4.0 จาก CLMVT สู่สากล ประเดิมเชื่อมโยงสินค้าผลไม้แปรรูป-สมุนไพร เข้าตลาด กัมพูชา เมียนมา

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์  กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "ปั้นผลิตภัณฑ์เกษตร CLMVT สู่ตลาดโลก: ฝันให้ไกลไปให้ถึง" เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2562 ว่า กระทรวงพาณิชย์ มุ่งเน้นที่จะพัฒนาความสัมพันธ์และยกระดับการค้าระหว่างไทยและ CLMV ให้มากขึ้น

โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้จัดงาน CLMVT Forum 2019 ขึ้น และเล็งเห็นว่าควรต่อยอดความร่วมมือเรื่องการพัฒนาห่วงโซ่การค้าของภูมิภาค (Regional Value Chain) ในกลุ่มประเทศ CLMVT ให้สามารถแข่งขันได้ในโลกยุคใหม่ที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ

รวมทั้งเป็นการกระชับความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของไทยและ CLMV อีกด้วย ซึ่งโครงการนี้ได้มุ่งเน้นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม 4.0 โดยสินค้าอุตสาหกรรม 4.0 ในการศึกษานี้ มุ่งเน้นการพัฒนา "ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ" และมุ่งเน้นส่งเสริมการผลิต/แปรรูปและความร่วมมือในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก

ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตผลไม้แปรรูป และ กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งไทยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการแปรรูป ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เกษตรกรรายย่อยทั้งในจังหวัดของไทยและในฝั่งเพื่อนบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตสินค้าด้วย เพื่อเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เติบโตไปด้วยกัน

สำหรับผลลัพธ์ของโครงการดังกล่าว ได้นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการของไทยและเพื่อนบ้าน โดยในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2-กัมพูชา ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ มังคุดและมะม่วงแก้วขมิ้นกวน เป็นแบบ 2 in 1 ซึ่งเป็น value chain ระหว่าง วิสาหกิจชุมชนบ้านสวนไร่ป๋า จ.จันทบุรี กับเครือข่ายเกษตรกรใน จ.ไพลิน และพระตะบอง ของกัมพูชา

และ น้ำสับปะรดผสมน้ำมะม่วงแก้วขมิ้น เป็น value chain ระหว่างวิสาหกิจชุมชนเช็คอินตราด ฟาร์มเอาท์เล็ท ร่วมกับบริษัทสุพรรณิกามั่งมี จำกัด เป็นผู้ผลิตน้ำสับประรดผสมน้ำมะม่วงแก้วขมิ้น กับเครือข่ายเกษตรกรใน จ.ไพลิน และพระตะบอง ของกัมพูชา ภายใต้ตราสินค้า “ลินจันท์ (Lin Chan)”

ขณะเดียวกัน ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2-เมียนมา ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สเปรย์สมุนไพร และบาล์มสมุนไพรที่มีส่วนผสมของไพล ขมิ้น และทานาคา ที่มีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อย ผ่อนคลาย และบำรุงผิวพรรณ ซึ่งเป็น value chain ระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรเวียงกือนา จ.เชียงราย กับเครือข่ายเกษตรกรใน จ.ท่าขี้เหล็ก ของเมียนมา ภายใต้ตราสินค้า “ไตไทย (Tai Thai)”

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบดังกล่าวเป็นการนำจุดเด่นของสองประเทศมาเสริมกันและสร้างแบรนด์ให้อนุภูมิภาคนี้ และในอนาคต มหาวิทยาลัยและวิสาหกิจเพื่อสังคมในพื้นที่จะสานต่อความร่วมมือและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงขยายโอกาสไปสู่ตลาดต่างประเทศ

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่าในอนาคต จังหวัดใน CLMVT ต้องร่วมกันวางยุทธศาสตร์รองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ภายใต้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพหรือ Bio-tech และ Agri-tech ที่จะเป็นโอกาสของเกษตรกรที่จะยกระดับรายได้

ซึ่งหาก CLMVT สามารถปรับตัวไปพร้อมกันได้อย่างรวดเร็วก็จะช่วยให้ผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่ได้เกาะเกี่ยวไปสู่ตลาดด้วย ซึ่งผลการศึกษาและแนวการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของกลุ่มจังหวัดฯ และประเทศเพื่อนบ้าน CLMV นี้ สามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางให้จังหวัดชายแดนอื่นๆ ต่อไปได้ด้วย