posttoday

ยักษ์ใหญ่ตุรกี สนลงทุนโปรเจ็คทางด่วน-รถไฟฟ้า 2 แสนล้านบาท

05 กันยายน 2562

"ศักดิ์สยาม" ต้อนรับนักลงทุนตุรกี เปิดทางร่วมลงทุน โครงการทางด่วน-รถไฟฟ้า เล็งถก ครม.เศรษฐกิจ ดึงงบปี 63 กดปุ่มรถไฟฟ้าสายสีส้ม

"ศักดิ์สยาม" ต้อนรับนักลงทุนตุรกี เปิดทางร่วมลงทุน โครงการทางด่วน-รถไฟฟ้า เล็งถก ครม.เศรษฐกิจ ดึงงบปี 63 กดปุ่มรถไฟฟ้าสายสีส้ม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเอกอัครราชทูต กรุงอังการา เข้าพบว่า ในวันนี้(5ก.ย.) นางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ได้พา 3 บริษัทลงทุนของประเทศตุรกี ที่มีความสนใจลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเข้าร่วมหารือ ประกอบด้วย 1.บริษัท Bozankaya เป็นบริษัทชั้นนำในการผลิตยานพาหนะไฟฟ้า (รถ Tram/รถเมล์) ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นบริษัทได้ชนะการประมูลการผลิตรถไฟฟ้าสายสีเขียวในประเทศไทยมูลค่า 40 ล้านยูโร (ปี 2559)

ทั้งนี้ บริษัท Bozankaya ได้ให้ความสนใจโครงการรถไฟฟ้าในเส้นทางอื่นๆ ของไทยในอนาคต อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร(กม.) งานก่อสร้างและงานระบบ วงเงินประมาณ 2.35 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ที่สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย. 2562) จะมีการหารือถึงงบประมาณประจำปี 2563 ที่จะใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าว โดยจะแบ่งการลงทุนเป็น 2 เฟส หลังจากก่อนหน้านี้ติดปัญหาเรื่องวินัยการเงินการคลัง อย่างไรก็ตาม ในการหารือเบื้องต้นกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวโน้มว่าสามารถดำเนินการได้

2.บริษัท Rönesans Group บริษัทลงทุนด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน/อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ ด้านสุขภาพ โดยเป็นบริษัทก่อสร้างใหญ่อันดับ 9 ของยุโรป สนใจลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และ 3.บริษัท Akfen Holding ลงทุนในหลากหลายสาขา อาทิ ท่าเรือ (ท่าเรือ Mersin ทางตอนใต้ของตุรกีเป็นหนึ่งในท่าเรือที่สำคัญที่สุดของตุรกี) พลังงาน พลังงานทดแทน อสังหาริมทรัพย์ เหมืองแร่ และก่อสร้าง มีความสนใจลงทุนในพื้นที่อีอีซี และโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) กะทู้-ป่าตอง วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เนื่องจากมีเทคโนโลยีขั้นสูง และประสบการณ์การเจาะอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศสวิสเซอร์แลนด์

ทั้งนี้ได้แจ้งให้ทั้ง 3 บริษัททราบว่า ยินดีที่ได้ให้ความสนใจลงทุนโครงการต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงคมนาคมเปิดกว้างให้กับบริษัทเอกชนทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไขร่วมทุนกับบริษัทของไทยในอัตราส่วนบริษัทไทย 51% และบริษัทต่างชาติ 49% และหากต้องการข้อมูลในส่วนใด สามารถประสานขอผ่านทางสถานฑูตได้ เนื่องจากโครงการใดที่ผ่านมติการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วนั้น สามารถเปิดเผยได้ และเป็นการเปิดกว้างในด้านของการแข่งขัน

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ในวันที่ ก.ย. กระทรวงคมนาคมจะรายงานความคืบหน้าของ 3 โครงการลงทุนสำคัญในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ 1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งเตรียมลงนามกับเอกชนผู้ชนะการประมูลในวันที่ 9 ก.ย.นี้ 2. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ท่าเทียบเรือ F มีการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างรอศาลปกครองพิจารณาหลังจากกลุ่มเอกชนได้ยื่นคำร้องไป และ 3.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) มีบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เป็นเจ้าของโครงการ