posttoday

นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ตัวช่วยยกระดับภาคเศรษฐกิจและภาคสังคม?

04 กันยายน 2562

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

อีไอซี ประเมินว่า ในช่วงระหว่างปี 2019-2022 มูลค่าการลงทุนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะในไทยจะมีมูลค่าราว 5.5 หมื่นล้านบาท จากการพัฒนาของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการพัฒนานิคมอุตสาหรรมอัจฉริยะ ให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนจะต้องอาศัย 3 ปัจจัย

ได้แก่ 1. การวางแผนการพัฒนาโครงการให้มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 2. การสร้างความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นในการพัฒนาและนำไปใช้ และ 3. การประสานการทำงาน หรือ synergy ของฐานข้อมูลและเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด

นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เป็นการนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะมาปรับใช้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยนอกจากเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในด้านพลังงาน การขนส่ง สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและการทำธุรกิจแล้ว ควรจะรวมถึงการลงทุนในด้านอื่นๆ เพื่อยกระดับปัจจัยแวดล้อมภายในพื้นที่ให้เอื้อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม และการอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น

การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ผู้พัฒนานิคมฯ จะสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของนิคมฯ เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เพิ่มช่องทางหารายได้ประจำ และใช้เป็นแผนในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมเดิมและเพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. ผู้ประกอบการภายในนิคมฯ จะสามารถลดต้นทุนดำเนินการทั้งในด้านพลังงาน การขนส่งและสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนา และ 3. บุคลากรที่อาศัยอยู่ในนิคมฯ ผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่อาศัยซึ่งจะช่วยดึงดูดให้บุคลากรภายนอกเข้ามาทำงานในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างสูง

รายละเอียดเพิ่มเติม EIC Online: www.scbeic.com