posttoday

ด่านสะเดาแห่งที่ 2 คืบแล้ว 95% หนุนเป็นประตูเชื่อมการค้าเพื่อนบ้าน

01 กันยายน 2562

'จุรินทร์'ควง 2 รัฐมนตรี ถกร่วมค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย หาแนวทางแก้อุปสรรคค้า ชี้เป้าด่านสะเดาจุดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ มียอดนำเข้าส่งออกสินค้าปีละ3แสนล้านสูงสุดในด่านศุลกากรของไทย

'จุรินทร์'ควง 2 รัฐมนตรี ถกร่วมค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย หาแนวทางแก้อุปสรรคค้า ชี้เป้าด่านสะเดาจุดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ มียอดนำเข้าส่งออกสินค้าปีละ3แสนล้านสูงสุดในด่านศุลกากรของไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจการก่อสร้างด่านสะเดาแห่งที่2 เพื่อสอบถามความคืบหน้า ปัญหาและอุปสรรค ซึ่งขณะนี้มีการก่อสร้างแล้วเสร็จไป 95%   แล้ว  โดยในวันนี้(1ก.ย.)จะเป็นประธานนำการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทย-มาเลเซีย ที่จังหวัดสงขลา ร่วมกับ นายนิพนธุ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกรทรวงมหาดไทย นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมผู้ว่าราชการจังหวัด ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการค้าชายแดน ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ จึงได้จัดการประชุมครั้งนี้เพื่อรับฟังและหารือแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทย-มาเลเซีย ในการผลักดันให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับมาเลเซียให้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2561 การค้าระหว่างไทย-มาเลเซียมีมูลค่าสูงถึง 803,300 ล้านบาท และครึ่งปีแรกของปี 2562 มีมูลค่า 387,041 ล้านบาท

ขณะที่การค้าชายแดนไทย-มาเลเซียมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของมูลค่าการค้ารวมไทย-มาเลเซีย (การค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ปี 2561 มีมูลค่า 568,096 ล้านบาท และครี่งปีแรกของปี 2562 มีมูลค่า 271,603 ล้านบาท) ซึ่งในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ติดกับมาเลเซียมีด่านศุลกากร 9 ด่านกระจายตามแนวชายแดน

ดังนั้นด่านศุลกากรสะเดาเป็นด่านศุลกากรชายแดนที่มีมูลค่าการนำเข้าส่งออกสินค้าสูงที่สุดในประเทศไทยแต่ละปีเฉลี่ยกว่า 3 แสนล้านบาท จากมูลค่าการค้าชายแดนทั้งประเทศประมาณ 1 ล้านล้านบาท เป็นประตูเชื่อมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของไทย รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับด่านศุลกากรสะเดาในฐานะอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจสำคัญโดยมีเป้าหมายที่จะให้ด่านศุลกากรสะเดาสามารถรองรับการให้บริการที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอกับปริมาณการค้าที่นับวันจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง