posttoday

ถอดรหัส DAAT DAY ปีที่ 5 เมื่ออะไรๆก็ 'ดิจิทัล'

01 กันยายน 2562

สมาคมการตลาดและการสื่อสารดิจิทัล จัดงานสัมมนา 'DAAT DAY 2019 – All Things Digital' ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ในปีนี้ได้เชิญพันธมิตรสื่อดิจิทัลจากทั้งในและต่างประเทศมาร่วมเป็นวิทยากรเพื่อนำเสนอข้อมูล นวัตกรรม และงานสร้างสรรค์ดิจิทัล

สมาคมการตลาดและการสื่อสารดิจิทัล จัดงานสัมมนา 'DAAT DAY 2019 – All Things Digital' ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ในปีนี้ได้เชิญพันธมิตรสื่อดิจิทัลจากทั้งในและต่างประเทศมาร่วมเป็นวิทยากรเพื่อนำเสนอข้อมูล นวัตกรรม และงานสร้างสรรค์ดิจิทัล ไปเมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีนักการตลาด แบรนด์ สื่อ และผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 3,200 ราย

เม็ดเงินสื่อโฆษณาดิจิทัล ปี'62 แตะ 2หมื่นล้านบาท โต19%

ศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่าสำหรับงาน DAAT DAY ในปีนี้วางแนวทางหลักการจัดงานที่ก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้นการติดอาวุธให้กับบุคคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลและการตลาดด้วยข้อมูลและนวัตกรรมใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

"ไฮไลท์งาน DAAT DAY ทุกปี คือ การแถลงมูลค่างบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของประเทศไทยที่สมาคมฯ ร่วมกับบริษัท คันทาร์อินไซด์ (ประเทศไทย) ซึ่งมีการคาดการณ์ตัวเลขการลงทุนในสื่อดิจิทัลสำหรับปีนี้ ว่าจะสูงถึง 20,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 19% เมื่อเทียบกับปี 2561" ศิวัตร กล่าว

ขณะที่ สิ่งที่สำคัญสำหรับนักการตลาดในปีนี้ คือ Data Driven marketing as a core ด้วยประเทศไทย ได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคที่ทำการตลาดโดยมี data เป็นฐานอย่างแท้จริง จึงทำให้เกิดแนวโน้ม 3 รูป แบบสำหรับตลาดดิจิทัลได้แก่ 1. eCommerce เป็นช่องทางในการซื้อขายสินค้าทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ 2.การเพิ่มประสบการณ์ให้แก่ผู้บริโภคผ่านการใช้ data ร่วมกับการวางแผน 3. การทำ Tailor-made content ควบคู่กับการวาง Segment เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านสื่อที่หลากหลาย

ด้าน พัชรี เพิ่มวงศ์อัศวะ และ ราชศักดิ์ อัศวศุภชัย กรรมการสมาคมฯ ร่วมเปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนในสื่อดิจิทัลว่ากลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ใช้งบประมาณโฆษณาดิจิทัลสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 2.กลุ่มประทินผิว 3.กลุ่มการสื่อสาร 4.กลุ่มเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ และ 5.กลุ่มธุรกิจธนาคาร

ขณะที่แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้รับความนิยมจากนักโฆษณาและการตลาดสูงที่สุดยังคงเป็น Facebook และ YouTube ที่มีสัดส่วนเม็ดเงินลงทุนประมาณ 49% ส่วนการลงทุนในสื่อTwitter มีการประเมินว่า จะเติบโตอีก 52%

3 ส่วนหลักขับเคลื่อนการตลาดดิจิทัล

นอกจากนี้ยังได้ 'กูรู' มาร่วมสัมมนาในหัวข้อ What's next in Thailand digital industry? ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมดิจิทัลประเทศไทย โดย ศิวัฒน์ เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศ ไทย) ภารุจ ดาวราย กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล(ประเทศไทย) และ นรินทร์ เย็นธนภรณ์ กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ร่วมให้มุมมองในประเด็น การใช้ข้อมูลเข้ามาขับเคลื่อนการทำตลาด 'Data Driven Marrketing' ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1.All Things eCommerce 2. Enhanced Customer Experience และ 3. Content Marketing

ด้วยในขณะนี้ไปจนถึงอนาคต Data Driven ถือเป็น Back Bone สำคัญในการทำตลาดในยุคอุตสาหกรรมดิจิทัล ด้วยข้อมูล หรือ Data จะไม่ใช่เรื่องของเทรนด์อีกต่อไป แต่จะมีมากขึ้นและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของทุกๆอย่าง โดยเฉพาะปัจจุบัน ในทั่วโลกได้มีการนำดาต้า มาใช้เพื่อวิเคราะห์สร้างกลุ่ม(Segmentation) เพื่อทำแคมเปญการตลาดในรูปแบบ Always All

สำหรับ All Things eCommerce นั้นจะเห็นความชัดเจนในรอบปีที่ผ่านมา จากผู้ให้บริการแพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายต่างๆ อย่าง ลาซาดา หรือ ช้อปปี ต่างมองหาโอกาสเพิ่มการซื้อสินค้าจากผู้บริโภคมากขึ้น โดยการออกแคมเปญกระตุ้นการซื้อทุกเดืน เช่น จัดอีเวนต์พิเศษในวันที่ 8 เดือน 8 ซึ่งคาดว่าจากนี้ไป ก็จะมีแคมเปญลักษณะดังกล่าวออกมาทุกเดือน เช่น อีเวนต์วันที่ 9 เดือน 9 หรือ ในวันที่ 10 เดือน10 เป็นต้น นับจากนี้

ไทย แชมป์อันดับ3ของโลก ช้อปออนไลน์บนมือถือ

นอกจากนี้ยังมีสถิติที่น่าสนใจ คือ คนไทยครองอันดับ3ของโลก ของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตคิดเป็นสัดส่วนกว่า 71% ที่มีการซื้อของออนไลน์ผ่านมือถือ และครองอันดับ 5ของโลกในการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่าน อุปกรณ์ต่างๆ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% จากปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนทื่กว่า 90 ล้านราย

"รูปแบบการค้าขายในเวลานี้มีความหลากหลาย โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดทื่มีการทำธุรกิจบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ค กรุ๊ป ขายของเฉพาะภายในกลุ่มหรือมีการแลกเปลี่ยนสินค้า จนสามารถสร้างคาแรกเตอร์พิเศษของผู้ขายสินค้าออนไลน์ขึ้นมาได้ อย่าง ฮาซันอาหารทะเล หรือ เจ๊น้ำ ที่ทุกอย่างทำผ่านบนเฟซบุ๊ค" ศิวัฒน์ เสริม

ดังนั้นการใช้สื่อโฆษณาเฟซบุ๊ค จะมีการเริ่มยิงโฆษณาโดยตรงมากขึ้น ซึ่งมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคในการเลือกสื่อนั้นๆ เป็นหลัก ขณะที่ปัจจุบันมีแบรนด์สินค้าเล็กๆ หรือ เอสเอ็มอี เกิดขึ้นจำนวนมาก และ เข้ามาขอส่วนแบ่งการตลาดจากแบรนด์สินค้าใหญ่มากขึ้นบนสื่อออนไลน์ จากในอดีตที่แบรนด์เล็กๆหล่านี้ไม่ได้มีผลกระทบตรงกับแบรนด์ใหญ่มากนัก

ทำให้หลายแบรนด์สินค้าเจอความท้าทายมากขึ้น ด้วยเงินในกระเป๋าผู้บริโภคมีเท่าเดิมแต่เมื่อเจอแบรนด์เล็กในตลาดเดียวกันชิงส่วนแบ่งการตลาดไปแล้ว ก็อาจจะไม่มีเงินเหลือพอที่จะมาซื้อสินค้าแบรนด์ใหญ่

ขณะที่การ Retarget ผู้บริโภคก็จะมีความฉลาดมากขึ้น เช่นกัน ซึ่งถือเป็นยุคที่ยักษ์เล็กรวมกันแล้วสร้างผลกระทบตรงถึงยักษ์ใหญ่ในปัจจุบันแล้ว

จะเห็นได้ว่าทุกอย่างเป็นอีคอมเมิร์ซไปแล้ว และเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคและโตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ทำตลาด หรือ เจ้าของสินค้าออนไลน์ จะต้องมองหาเครื่องมือเข้ามาช่วย เช่น แชท บอท เพื่อช่วยตอบกลับคำถามซ้ำๆของลูกค้าแบบทันทีทันใด หรือ อย่างฮาซันอาหารทะเล ที่เบื้องหลังการไลฟ์ขายของ ก็มีทีมงานสนับสนุนจำนวนมากในการถ่ายทอดสดเพื่อขายของ เป็นต้น

สร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าทุกจุดสัมผัส

สำหรับ Enhanced Customer Experience จะเป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าตลอดเวลา โดยพบว่า 70% ของลูกค้าทั่วไปความคาดหวังว่าแบรนด์จะจดจำเรื่องเดิมที่กลุ่มลูกค้าเคยติดต่อแบรนด์
ไว้ก่อนหน้านั้น และมีสัดส่วน 63% ที่ผู้บริโภคต้องการให้แบรนด์จดจำตัวเขาได้ทุกจุด Touch Point ด้วย ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความคาดหวังสูงขึ้น

ดังนี้แบรนด์สินค้า มีหน้าที่ คือ จะทำอย่างไรให้เป็นที่จดจำพร้อมเชื่อมโยงประสบการณ์ลูกค้าที่มีกับแบรนด์ทุก Touch Point เข้าไว้ด้วยกันได้ เพื่อสร้าง User Experience ที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภค โดยแบรนด์อาจจะต้องวางแผนในการทำทั้ง Own Media, Website, MobileSite และ Application ให้ครอบคลุม ขณะที่ฝั่งเอเยนซี ยังมีความสำคัญในการเป็นคนกลางเพื่อสนับสนุนแบรนด์ โดยทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลสำคัญให้กับแบรนด์

คอนเทนต์ มาร์เก็ตติง ต้องลื่นไหลไปได้ทุกฟอร์แมต

ส่วนประกอบสุดท้าย 3. Fluid Content Marketing การสร้างความไหลลื่นของคอนเทนต์ในการทำตลาด ด้วยในปัจจุบันการทำ คอนเทนต์เดียว เพื่อกระจายออกไปยังแหล่งต่างๆ อาจใช้ไม่ได้ผลแล้ว เพราะผู้บริโภคต้องการให้แบรนด์มีความเป็นส่วนตัวเฉพาะกับพวกเขามากขึ้น ซึ่งจากความต้องการเหล่านี้ ทำให้แบรนด์ต้องหันไปให้ความสำคัญกับ Big Data เพื่อรู้จักผู้บริโภค และนำเสนอคอนเทนต์ไปถึงผู้บริโภคในแต่ละบุคคลในระดับ Customize ไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนการเล่าเรื่อง ด้วยการสร้าง Hero Content เพื่อใช้ในการสื่อสาร รวมถึงการสร้าง Multiple-Creative จากการนำเสนอคอนเทนต์เพื่อเล่าเรื่องเชื่อมโยงไปพร้อมๆกับพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ที่อยู่ในแต่ละแพลตฟอร์ม

ทั้งหมดนี้ คือ เรื่องราวบางส่วนของการใช้ข้อมูลเข้ามาขับเคลื่อนการทำตลาดของยุคที่อะไรๆ ก็ดิจิทัล ในเวลานี้ ที่สะท้อนผ่านเวที 'DAAT DAY 2019'