posttoday

อีอีซี ผนึกมหานครการบินเจิ้งโจว หวังเชื่อมขนส่งผลไม้ไปตลาดจีน

29 สิงหาคม 2562

สกพอ. ลงนาม MOU ความร่วมมือมหานครการบินเจิ้งโจว ดึงโมเดลเมืองการบินพัฒนา เมืองการบินภาคตะวันออกแบบครบวงจร

อีอีซี ลงนาม MOU ความร่วมมือมหานครการบินเจิ้งโจว ดึงโมเดลต้นแบบพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกแบบครบวงจร เล็งใช้สนามบินเชื่อมส่งออกผลไม้ไปจีนถึงยุโรป

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือ(MOU)มหานครการบินเจิ้งโจว ระหว่างคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (Zhengzhou Airport Economy Zone:ZAEZ) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ทั้งนี้สาระสำคัญของความร่วมมือ คือ 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ ในการพัฒนามหานครการบิน ด้านต่างๆ อาทิ การวางผังศูนย์กลางการบินและการเชื่อมโยง กลยุทธ์การคัดเลือกอุตสาหกรรม ความร่วมมือสถาบันการศึกษาด้านการบินการวางผังเมือง การท่องเที่ยวและงานวิจัย เป็นต้น 2.การส่งเสริมการลงทุน และการจัดทำระบบ E-Commerceในพื้นที่ อีอีซี และ ZAEZ

3.การส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านการบินครบวงจร ระหว่าง อีอีซี และ ZAEZ 4.การสนับสนุนความร่วมมือและการพัฒนาในโครงการต่างๆระหว่างอีอีซี และ ZAEZ ให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้จะเป็นแนวทางการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ในพื้นที่ 6,500 ไร่ของสนามบินอู่ตะเภา และบวกกับรัศมี 30 กิโลเมตร(กม.)รอบสนามบิน (พัทยา-ระยอง) ที่ถูกวางไว้เป็น มหานครการบินภาคตะวันออก (Eastern Aerotropolis)ซึ่งการนำประสบการณ์จากเจิ้งโจว ที่เป็นมหานครการบินในภาคกลางของจีน ขนาด 415 ตารางกิโลเมตร และเป็นมหานครการบินใหม่ที่เริ่มทำได้ 3 ปี ซึ่งถือเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองการบิน ในเขตพื้นที่ อีอีซี ของประเทศไทย ได้เป็นอย่างดี

สำหรับความร่วมมือต่อไปในอนาคต ภายใต้ MOUจะทำให้กิดความร่วมมือ North Asia Aerotropolis(เมืองการบินทางเหนือของเอเชีย) จากเจิ้งโจว และ South East Asia Aerotropolis(เมืองการบินตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชีย) จากอู่ตะเภา การขนส่งสินค้า ที่ ZAEZ จะเป็นศูนย์กลางนำเข้าสินค้าทางอากาศของจีน รับสินค้าที่ส่งออกสำคัญ เช่น ผลไม้ อาหารทะเล สัตว์ปีก สัตว์มีชีวิต อาหารสำเร็จรูป ยา อุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งผลไม้จากพื้นที่อีอีซี จะถูกส่งไปประเทศจีน แล้วสามารถขยายไปทั่วประเทศจีน การลงทุนผลิตยาในอีอีซี จะถูกส่งขายผ่านระบบ E–Commerce ที่จะกระจายผ่าน ศูนย์รับสินค้าท่าเรือบก (Dry port) ที่เจิ้งโจว เป็นต้น เกิดการสร้างช่องทางและขยายตลาด ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกผลไม้ และผู้ประกอบการ มีรายได้ที่ยั่งยืน

ความร่วมมือการลงทุนในอุตสาหกรรมร่วมกัน ซึ่ง ZAEZ ได้ดำเนินการแล้ว โดยมีบริษัทด้าน ITและ Smart phone กว่า 60 ราย มีบริษัทเกี่ยวข้องกับการขนส่งทางอากาศ 36 บริษัท บริษัทที่ธุรกิจด้าน E- Commerce 431 บริษัท บริษัทซ่อมเครื่องบิน 5 บริษัท โดยคาดว่าจะมีกลุ่มบริษัทดังกล่าวหลายแห่ง สนใจและพร้อมที่จะมาลงทุนในพื้นที่ อีอีซี และคาดว่าจะมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นพันธมิตร เข้ามาร่วมลงทุนเพิ่มอีก เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความร่วมมือการพัฒนาบุคลากร และการพัฒนาระบบต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งความร่วมมือและประสบการณ์จาก ZAEZ จะช่วยพัฒนาความรู้และประสบการณ์เป็นอย่างดี

นายสมคิด กล่าวว่า ท่าอากาศยานเจิ้งโจว เป็นสนามบินที่เชื่อมโยงการคมนาคมของจีน ทั้งทางบก ทางราง และทางอากาศ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในการกระจายสินค้าที่สำคัญของจีน โดยไทยจะนำโมเดลการพัฒนาเมืองการบินของเจิ้นโจวมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองการบินในไทย
ขณะเดียวกันท่าอากาศยานเจิ้งโจวมีพันธะสัญญาเชื่อมโยงด้านการค้าและการขนส่งกับทางยุโรป ซึ่งหลังจากการลงนาม MOU แล้วอยากใช้โอกาสนี้ในการเชื่อมโยงสินค้าจากไทยไปจีนและเชื่อมต่อไปยังสหภาพยุโรปด้วย พร้อมทั้งนำโมเดลและความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้าของเจิ้นโจวมาพัฒนาเมืองการบินของไทยด้วย

อย่างไรก็ตามปัญหาเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ไม่ส่งผลต่อการเดินหน้าโครงการนี้ และจากความร่วมมือที่ไทยเชื่อมโยงกับโครงการเส้นทางเศรษฐกิจ (One Belt One Road) จะเดินหน้าเปิดตลาดใหม่กับจีน ซึ่งตนเองมีกำหนดจะเดินทางไปเยือนเมืองกวางตุ้งและเซินเจิ้นในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อไปโรดโชว์ดึงดูดนักลงทุนให้เข้าลงทุนในไทยมากขึ้น