posttoday

ไทยพาณิชย์ประเมินภัยแล้งสะเทือนประกันรายได้เกษตรกร

28 สิงหาคม 2562

อีไอซีมอง โครงการประกันรายได้บรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนาได้บางส่วน ปัญหาภัยแล้งยังต้องแก้เร่งด่วน

อีไอซีมอง โครงการประกันรายได้บรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนาได้บางส่วน ปัญหาภัยแล้งยังต้องแก้เร่งด่วน

น.ส.กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/2563 รอบที่ 1 วงเงินรวมทั้งสิ้น 21,496 ล้านบาท โดยกำหนดการได้รับสิทธิในการชดเชยไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่

ทั้งนี้ อีไอซีมองว่า ชาวนาที่ปลูกข้าวเจ้าจะได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด โดยได้รับเงินชดเชยส่วนต่างราคาข้าวเพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากราคาตลาดโดยเฉลี่ยในปัจจุบัน ในขณะที่ ผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวจะได้รับผลประโยชน์น้อยกว่า เนื่องจากราคาตลาดโดยเฉลี่ยในปัจจุบันใกล้เคียงราคาประกันแล้ว

อีไอซีคาดว่า ปริมาณส่งออกข้าวไทยปี 2019 น่าจะอยู่ที่ 8.5 ล้านตัน ลดลง 23% จากปี 2018 ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตข้าวที่ลดลงจากภาวะภัยแล้ง รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลงตามราคาข้าวในประเทศที่สูงขึ้น และค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562/2563 และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการวงเงินไม่เกิน 25,482 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวปี 2019 กับกรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน 4.31 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

ทั้งนี้ อีไอซีมองว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/2563
รอบที่ 1 นี้ น่าจะใช้งบประมาณ 19,000 ล้านบาท แต่หากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงขึ้น โครงการนี้ก็น่าจะใช้งบประมาณลดลง เนื่องจากผลผลิตข้าวลดลง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ณ เดือนสิงหาคม 2019 นาข้าวเสียหายสิ้นเชิงจากภัยแล้ง 600,000 ไร่ คิดเป็น 9% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ

อีไอซีมองว่า โครงการประกันรายได้น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนาได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการภาวะภัยแล้งยังเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนมากกว่า โดยยังต้องจับตาในช่วงที่เหลือของปี 2019 หากสถานการณ์ภัยแล้งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความรุนแรงขึ้น จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปีในปี 2562/2563 อย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวที่จะมาเข้าโครงการประกันรายได้ในรอบนี้อาจไม่สูงมากนัก ซึ่งจะทำให้โครงการนี้ไม่ได้ช่วยยกระดับรายได้ให้กับชาวนาได้อย่างเต็มที่