posttoday

ดัชนีผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังลดต่อเนื่อง

22 สิงหาคม 2562

ผลสำรวจดัชนีเอสเอ็มอีไตรมาสสอง 2562 พบว่าปรับตัวลดลงทุกรายการ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต สะท้อนธุรกิจเอสเอ็มอียังคงมีปัญหาความสามารถในการแข่งขัน

ผลสำรวจดัชนีเอสเอ็มอีไตรมาสสอง 2562 พบว่าปรับตัวลดลงทุกรายการ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต สะท้อนธุรกิจเอสเอ็มอียังคงมีปัญหาความสามารถในการแข่งขัน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีเอสเอ็มอีประจำไตรมาสสอง 2562 จาก 1,239 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่าปรับตัวลดลงทุกรายการทั้งในปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าค่ากึ่งกลางสะท้อนว่า ธุรกิจเอสเอ็มอียังคงมีปัญหา โดยเฉพาะดัชนีความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีที่ลดเหลือ 47.8 ลดลง 0.9 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

นอกจากนี้ คาดว่าไตรมาสสามจะเหลือ 46.9 ที่สำคัญยังน่ากังวลว่า กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีความสามารถในการแข่งขันเหลือแค่ 40.5 น้อยกว่าลูกค้า ธพว.ที่มีความสามารถในการแข่งขันถึง 55.5

สำหรับดัชนีเอสเอ็มอีอื่นๆ ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ อยู่ที่ 42.7 ปรับตัวลด 1 จากไตรมาสที่ผ่านมา และคาดไตรมาส 3 จะอยู่ที่ 41.9 ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 48.8 ปรับตัวลดลง 1.1 จุด และคาดไตรมาส 3 จะลดเหลือ 48.1 และดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจอยู่ที่ระดับ 51.8 ปรับตัวลดลง 0.7 จุด และคาดไตรมาส 3 จะอยู่ที่ 50.8

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ความต้องการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐนั้น ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ต้องการให้กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจ ด้านการท่องเที่ยว ต้องการให้ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ กระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว อนุรักษ์ธรรมชาติ ด้านสินเชื่อ ต้องการรับปรับโครงสร้างหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย และการสนับสนุนเงินกู้ ส่งเสริมความสามารถในการลงทุนการทำธุรกิจ และด้านสินค้าและบริการ เช่น สนับสนุนสินค้าไทย เพิ่มการพัฒนาการ ผลิตสินค้าในชุมชน สนับสนุนเงินลงทุน และขยายแหล่งส่งออกสินค้า

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดังกล่าว ดำเนินการก่อนที่รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เมื่อมีมาตรการกระตุ้นดังกล่าวออกมาแล้ว เชื่อว่า จะทำให้สถานการณ์เอสเอ็มอีดีขึ้น

นายพงชาญ สำเภาเงิน รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธพว.กล่าวเสริมว่า จากผลสำรวจดังกล่าว ธนาคารเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษไว้รองรับธุรกิจเอสเอ็มอี เช่น สินเชื่อนิติบุคคล555 วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ย 7 ปี อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.479%ต่อเดือน สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน คิดดอกเบี้ยถูก นิติบุคคล 3 ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน และบุคคลธรรมดา 3 ปีแรกเพียง 0.42% ต่อเดือน เป็นต้น และตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 62 จะสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนได้กว่า 60,000 ล้านบาท