posttoday

เจาะตลาดอุซเบกิสถาน ดินแดนแห่งนิยายอาหรับราตรีบนเส้นทางสายไหม

20 สิงหาคม 2562

ถ้าจะกล่าวถึงเส้นทางการค้าจากยุโรปสู่จีน เราต้องย้อนประวัติศาสตร์นับถอยหลังยาวนานกว่าสองพันปี คงมีไม่กี่ประเทศที่ตั้งอยู่บนทางผ่านของเส้นทางสายไหมที่มีบทบาทในการค้าขายที่สำคัญของโลกในอดีต

 

ถ้าจะกล่าวถึงเส้นทางการค้าจากยุโรปสู่จีน เราต้องย้อนประวัติศาสตร์นับถอยหลังยาวนานกว่าสองพันปี คงมีไม่กี่ประเทศที่ตั้งอยู่บนทางผ่านของเส้นทางสายไหมที่มีบทบาทในการค้าขายที่สำคัญของโลกในอดีต หนึ่งในนั้นคือ ประเทศอุซเบกิสถาน ประเทศแห่งศูนย์กลางของวัฒนธรรมที่เชื่อมต่อระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออกอย่างกลมกลืน อีกเช่นเคย

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นำโดยนายชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ  ร่วมกับ Mr. Jamshid Safarov กงสุลแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ประจำประเทศไทย นำคณะนักลงทุนไทยในโครงการอบรมหลักสูตร “สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ (TOISC)”  เดินทางไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสและลู่ทางการลงทุน ระหว่างวันที่ 9 - 16 กรกฎาคม 2562 ณ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน การเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพี่อนำนักธุรกิจไทยลงพื้นที่สำรวจการลงทุนใน 4 เมืองใหญ่ที่มีศักยภาพ ได้แก่ เมืองทาชเคนต์ เมืองนามานกาน เมืองซามาร์คานต์ และเมืองสุดท้ายคือเมืองบูคารา มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ 

  1. เมืองทาชเคนต์ (TASHKENT) เป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศมีความหมายว่า เมืองแห่งศิลา (CITY OF STONE) หลังจากการปฏิวัติทางเศรษฐกิจ เมืองนี้ได้กลายเป็นเมืองที่มีความทันสมัยในสไตล์ของสหภาพโซเวียตผสมกลิ่นอายของวัฒนธรรมอิสลาม มีโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย และเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศเอเชียกลาง เมืองนี้มีประชากรประมาณ 2 ล้านคน การเยือนครั้งนี้ทางคณะได้เข้าพบและหารือกับ Mr. Bekzodkhon Alimkhanov ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ กระทรวงการค้าและการลงทุนแห่งเมืองทาชเคนต์ ผลการหารือทำให้คณะนักลงทุนไทยรับทราบถึงโอกาสในการทำธุรกิจและข้อมูลของประเทศโดยรวม
  2. เมืองนามานกาน (NAMAGAN) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศ และอยู่ทางตอนเหนือของหุบเขา FERGANA VALLEY เป็นเมืองที่มีเขตพรมแดนติดประเทศสาธารณรัฐคีร์กีซ ซึ่งห่างเพียง 30 กิโลเมตร และยังเป็นเมืองที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลกลางเป็นพิเศษจึงมีโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญมาตั้งมากมาย อาทิ โรงงานผลิตเครื่องจักร โรงงานผลิตเครื่องหนัง โรงงานผลิตยา และโรงงานทอผ้าไหม เป็นต้น ทางคณะได้รับเกียรติจาก H.E. Khayrullo Kh. Bozarov ผู้ว่าการเมืองนามานกาน ให้การต้อนรับคณะนักลงทุนไทยและบรรยายสรุปเกี่ยวกับข้อมูลที่สำคัญของเมืองนามานกาน
  3. เมืองซามาร์คานต์ (SAMARKAND) เป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งในเอเชียกลาง ตั้งอยู่ในเขตโอเอซิส โดยได้รับสมญานามว่า เมืองแห่งโดมสีฟ้า (THE CITY OF BLUE DOMES) ในประวัติศาสตร์ยังได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งนิยาย 1001 อาหรับราตรี (1001 ARABIAN NIGHTS) และเมืองยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ.2544 ทางคณะมีโอกาสได้เข้าพบและหารือกับ ตัวแทนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของเมืองซามาร์คานต์ โดย Mr. Urakov Jamshed Rajabovich รองผู้ว่าราชการเมืองซามาร์คานต์ ได้บรรยายถึงภาพรวมของเมืองซามาร์คานต์ ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากเมืองหลวงทาชเคนต์ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  4. เมืองบูคารา (BUKHARA) ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองของจังหวัดบูคารา ในอดีตเป็นเมืองโบราณที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นบนเนินเขา เป็นที่อยู่ของบุคคลสำคัญ มีสุเหร่า อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน โรงเรียนสอนศาสนา เมืองนี้ยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ.2536 ทางคณะได้เข้าพบและหารือผู้แทนเมืองบูคารา Mr.Botiejon Z. Shakhriyorov รองผู้ว่าราชการเมืองบูคารา และสุดท้ายคณะนักลงทุนไทยได้เยี่ยมชมบริษัททำธุรกิจเพาะเลี้ยงปลาที่ใหญ่ที่สุดในเมือง โดย Mr. Usmom Shamuradov ผู้บริหารของบริษัท Bukhara beliq ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการประมงและเลี้ยงปลาแบบครบวงจร พันธุ์ปลาที่สำคัญได้แก่ ปลาดุกและปลาตะเพียน

สำหรับโอกาสในการลงทุนในประเทศอุซเบกิสถาน ซึ่งทางคณะได้เห็นและสรุปข้อมูลจากการสำรวจและพบปะผู้แทนทั้งภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ ในโอกาสแรกคือ โอกาสในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เนื่องจากอุซเบกิสถานมีแหล่งวัตถุดิบและมีตลาดผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก สามารถใช้เป็นแหล่งในการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปไปยังกลุ่มประเทศยุโรปและเอเชีย แต่ในปัจจุบันยังใช้เทคโนโลยีการผลิตไม่ทันสมัยมากนัก นักลงทุนอุซเบกมีความสนใจร่วมทุนกับนักลงทุนไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และเทคโนโลยีแปรรูปการเกษตรจากคนไทย รวมถึงอุซเบกิสถานเป็นประเทศที่มีการปลูกผักและผลไม้จำนวนมากโดยมีการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในเครือรัฐเอกราช แต่พบว่ายังขาดการขนส่งสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่มีห้องเย็นไว้เก็บสินค้าเพื่อรอจำหน่ายทำให้สินค้าเกษตรเสียเร็วและไม่ได้คุณภาพ 

โอกาสนักลงทุนไทยในอับดับที่สองคือ โอกาสในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลทางการเกษตร  ปัจจุบันยังเป็นการเกษตรแบบใช้แรงงานคนเป็นหลัก เนื่องจากยังขาดเทคโนโลยี และไม่มีเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร และหากผู้ประกอบการไทยมีการนำเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาพัฒนาในอุตสาหกรรมเกษตร ทางรัฐบาลอุซเบกิสถานยังให้ความช่วยเหลือในเรื่องยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่  

เจาะตลาดอุซเบกิสถาน  ดินแดนแห่งนิยายอาหรับราตรีบนเส้นทางสายไหม

โอกาสท้ายสุดคือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ เนื่องจากอุซเบกิสถานมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นเมืองเก่าแก่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมากมาย ในอดีตเมืองเหล่านี้เคยเป็นจุดหยุดพักสำหรับพ่อค้าคาราวานบนเส้นทางสายไหม

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มตัวเลขนักท่องเที่ยวสูงเพิ่มขึ้นในแต่ละปี จึงเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนไทยในการเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงแรมและบริการในประเทศแห่งนี้  นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติมองว่าประเทศอุซเบกิสถานเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการรองรับการลงทุนจากต่างชาติยังมาจากปัจจัยสำคัญใน 3 ด้าน ด้านแรกอุซเบกิสถานมีขนาดตลาดที่ใหญ่ มีประชากรประมาณ 32.8 ล้านคน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศเอเซียกลาง มีกำลังแรงงานสูงถึง 18.12 ล้านคน ด้านที่สองมีระบบการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย แม้จะเป็นประเทศที่ถูกล้อมรอบด้วยประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Double Landlocked) แต่สามารถใช้จุดแข็งทางด้านระบบการขนส่งที่ทันสมัย เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเอเซียและยุโรปได้ ด้านที่สามคือ ดัชนีทางด้านเศรษฐกิจอยู่ในแนวโน้มที่ดี ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 48 พันล้านเหรียญสหรัฐ  ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per capita) อยู่ที่ 1,500 เหรียญสหรัฐฯ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP growth rate) อยู่ที่ร้อยละ 5.3  ซี่งจะเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่จะลงทุนผลิตในประเทศอุซเบกิสถาน และส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ ได้แก่ รัสเซีย ตุรกี และจีน เนื่องจากมีความได้เปรียบในด้านความสะดวกในการขนส่งสินค้าไปภูมิภาคเหล่านี้ รวมถึงโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยในการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติได้แก่ พลังงาน ฝ้าย ทอง และก๊าซธรรมชาติ 

อย่างไรก็ตามปัญหาและอุปสรรคในการลงทุนในอุซเบกิสถานในขณะนี้ ภาคเอกชนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศอุซเบกิสถาน ทั้งในด้านกฎระเบียบ การค้าการลงทุน ภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงหน่วยงานราชการและเอกชนส่วนใหญ่ยังใช้ภาษารัสเซีย และภาษาอุซเบกในการสื่อสาร ทำให้การทำธุรกิจจะต้องมีหุ้นส่วนท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือด้านภาษาและกฎระเบียบ ส่วนด้านระบบการธนาคารในขณะนี้ก็ยังไม่เป็นสากลโดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนเงินตราและการโอนเงินระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามช่วงปีที่ผ่านมาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุซเบกิสถานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องโดยการลงทุนจะยังอยู่ในกลุ่มพลังงาน เหมืองแร่ และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยรัฐบาลของอุซเบกิสถานเองมีความตั้งใจที่จะปรับปรุงกฎหมาย ระบบภาษีที่จูงใจ และมุ่งพัฒนาประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม และนักลงทุนต่างชาติจะได้รับการพิจารณาและการสนับสนุนจากรัฐเป็นกรณีพิเศษ หากเข้าเงื่อนไขในการลงทุนในภาคธุรกิจที่มีความสำคัญ ที่จะนำความเจริญมาสู่ประเทศ ไม่ว่าจะลงทุนในโครงการธุรกิจขนาดเล็ก แต่ถ้ามีการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและส่งเสริมการจ้างงานภายในประเทศ ก็จะได้รับการช่วยเหลือในด้านเงินกู้ยืม การลดหย่อนภาษี และการส่งออก จากรัฐบาลโดยตรง

สุดท้ายนี้ทางคณะยังมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจและไม่สามารถจะบรรยายเรื่องราวได้ทั้งหมดในบทความการสำรวจเส้นทางการค้าการลงทุนในประเทศอุซเบกิสถาน ที่มีความสำคัญมากในกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ที่สามารถเชื่อมเป็นประตูการค้าระหว่าง ยุโรปกับเอเชีย บนเส้นทางสายไหมที่ดำเนินยาวนานหลายร้อยปี ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญยังเป็นผู้ส่งออกฝ้ายเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่ง ดังนั้นทางคณะจึงเชิญชวนให้ผู้อ่านได้ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ เว็บไซต์ https://toi.boi.go.th  หรือติดต่อปรึกษาการลงทุนไทยในต่างประเทศโดยตรงที่ กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  เบอร์ อีเมล [email protected]

เจาะตลาดอุซเบกิสถาน  ดินแดนแห่งนิยายอาหรับราตรีบนเส้นทางสายไหม