posttoday

ห่วงดึงเอกชนบริหารรถไฟฟ้าสายสีแดง กระทบประชาชนแบกค่าโดยสารแพง

19 สิงหาคม 2562

คมนาคม ติงไอเดียเปิดPPPรถไฟฟ้าสายสีแดง ศึกษาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ หวั่นคุมค่าโดยสารไม่ได้ หากขาดทุนรัฐต้องใช้เงินภาษีมาอุ้ม

คมนาคม ติงไอเดียเปิดPPPรถไฟฟ้าสายสีแดง ศึกษาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ หวั่นคุมค่าโดยสารไม่ได้ หากขาดทุนรัฐต้องใช้เงินภาษีมาอุ้ม

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นโยบายรมว.คมนาคมที่้ต้องการให้เปิดร่วมทุนPPP รถไฟฟ้าสายสีแดงเพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมบริหาร นั้น ต้องมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้อย่างรอบด้าน ซึ่งข้อดีหากได้เอกชนมาบริหารคืองานบริการที่มีคุณภาพสำหรับประชาชนเพราะงานบริการเป็นงานที่ต้องทำทุกวันทุกชั่วโมง ต้องมีมาตรฐานเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้โดยสาร เช่น รถไฟฟ้าเสียต้องซ่อมได้ทันที อีกทั้งยังมีความคล่องตัวมากกว่ารัฐทั้งเรื่องงานบริหารและงานจัดซื้อที่ต้องผ่านระเบียบและขั้นตอนมากมายเหมือนภาครัฐ

อย่างไรก็ตามหากให้เอกชนเข้ามาเดินรถรัฐบาลจะไม่มีอำนาจกำหนดนโยบายเชิงราคา จึงอาจทำให้ค่ารถไฟฟ้าสูงกว่าที่รัฐเป็นเจ้าของ เพราะเอกชนเป็นผู้ลงทุนจึงต้องมองรายได้เป็นหลัก หากรัฐบาลยอมได้ ต้องนึกถึงประชาชนที่จะได้ราคาค่าโดยสารแพงขึ้นและมีการปรับราคาค่าโดยสารต่อเนื่องเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได กรณีเดียวกับค่าทางด่วนในปัจจุบัน

สำหรับแนวทางที่เป็นไปได้อาจจะเป็นการร่วมทุนแบบ PPP Gross Cost โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและรับความเสี่ยงด้านรายได้และให้สัมปทานเอกชนบริหารและซ่อมบำรุงโดยจัดสรรผลตอบแทนให้กับภาครัฐ กล่าวคือหากกำหนดราคาค่าโดยสารต่ำแล้วขาดทุน รัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายส่วนต่าง (Subsidy)ให้กับแต่ละโครงการ แต่อาจไม่เป็นธรรม ถ้ามองในภาพรวมที่ต้องนำเงินภาษีของคนทั้งประเทศมาอุ้มรถไฟฟ้าเพื่อคนที่อยู่ในเมืองหลวงหรือโครงการรถไฟฟ้าเฉพาะพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบด้าน ทั้งนี้ปัจจุบันนโยบายที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เป็นผู้บริหารและเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้นเป็นการเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี พ.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การส่งมอบภารกิจให้กับกรมขนส่งทางราง นั้น ขณะนี้สามารถโอนบุคลากร ภารกิจศึกษาโครงการตลอดจนอุปกรณ์คุรุภัณฑ์ทางราชการ จากสนข.ไปได้หมดแล้ว หลังจากนี้ทั้งสองหน่วยงานจะแยกภารกิจออกจากกัน โดยกรมการขนส่งทางรางจะเน้นศึกษาด้านมาตรฐานระบบราง เรื่องระบบรถไฟฟ้าตลอดจนเรื่องเชิงเทคนิคทางราง ขณะที่ สนข.จะดูเรื่องภาพรวมนโยบายของระบบรางทั้งประเทศ ส่วนด้านงบประมาณในปี 2563 ของกรมการขนส่งทางรางนั้นได้อยู่ที่หลักสิบล้านบาท แบ่งเป็นงานศึกษา 8 โครงการรวมถึงงบประมาณในการเช่าสำนักงานของกรมการขนส่งทาง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณบ้านมนังคศิลาสี่แยกมหานาค