posttoday

ชี้ช่องเกษตรกรจ.ตราดเลิกทำนาข้าว หันปลูกมะพร้าวน้ำหอมรายได้ดีไร่ละ22,352 บาท

19 สิงหาคม 2562

สศก.แนะเกษตรกรจังหวัดตราดเลือกปลูกอื่นทดแทนพื้นที่ปลูกข้าว 1.14แสนไร่ หลังพบ มะพร้าวน้ำหอม-ฟักทอง-มันเทศ-แตงกวา ผลตอบแทนดี ผลผลิตเป็นที่ต้องการ

สศก.แนะเกษตรกรจังหวัดตราดเลือกปลูกอื่นทดแทนพื้นที่ปลูกข้าว 1.14แสนไร่ หลังพบ มะพร้าวน้ำหอม-ฟักทอง-มันเทศ-แตงกวา ผลตอบแทนดี ผลผลิตเป็นที่ต้องการ

นายสุชัย กิตตินันทะศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด (Top 4)ของจังหวัดตราดตามแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก(Agri–Map)พบว่า ได้แก่ ยางพารา ทุเรียน เงาะ กุ้งขาวแวนนาไม โดยการปลูกยางพาราในพื้นที่มีความเหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2)เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 1,166 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่มีความเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ เฉลี่ย 194 บาท/ไร่

ด้านทุเรียน พื้นที่ S1/S2ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 48,267 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ S3/N ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 46,352 บาท/ไร่ เงาะ พื้นที่ S1/S2ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 19,768 บาท/ไร่ พื้นที่ S3/N ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 19,673 บาท/ไร่ และกุ้งขาวแวนนาไม ซึ่งไม่มีการจำแนกพื้นที่ความเหมาะสม มีผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 74,503 บาท/ไร่

ขณะที่หากมองถึงการปลูกข้าวในจังหวัดตราด พบว่า มีพื้นที่ S1/S2ที่เหมาะสำหรับการปลูก 114,233 ไร่ เกษตรกร ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 607 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ S3/N จำนวน 20,633 ไร่ เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 487 บาท/ไร่ เมื่อพิจารณาสินค้าทางเลือกเพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม ตาม Agri – Map พบว่า มีสินค้าหลายชนิดที่สามารถพัฒนาให้มีคุณภาพและเพิ่มมูลค่า ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม มีต้นทุนการผลิต 5,789 บาท/ไร่/ปี สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 40-60 วัน/รอบ เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ 22,352 บาท/ไร่/ปี (ประมาณ 6 รอบ) ซึ่งมีโครงการ Zoning ของภาครัฐ สนับสนุนต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม และค่าปรับพื้นที่ในการเตรียมดิน ในการปรับเปลี่ยนการผลิตจากนาข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมปรับเปลี่ยนเป็นยกร่องทำแปลงมะพร้าวน้ำหอม และราคาผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดีเป็นที่ต้องการของตลาดนักท่องเที่ยวที่มาจังหวัดตราด

นอกจากนี้ยังมีฟักทอง มีต้นทุนการผลิต 6,860 บาท/ไร่/รุ่น ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 60 วัน/รุ่น ได้ผลตอบแทนสุทธิ 14,667 บาท/ไร่/รุ่น โดยจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อในแหล่งผลิตต่อเนื่อง มันเทศ มีต้นทุนการผลิต 10,651 บาท/ไร่/รุ่น ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 90 วัน/รุ่น ผลตอบแทนสุทธิ 13,724 บาท/ไร่/รุ่น พริก มีต้นทุนการผลิต 21,184 บาท/ไร่/รุ่น ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 90 วัน/รุ่น ผลตอบแทนสุทธิ 13,037 บาท/ไร่/รุ่น โดยมันเทศและพริกมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อในแหล่งผลิตและขายปลีกแก่ผู้บริโภคในท้องถิ่น

ส่วนแตงกวา มีต้นทุนการผลิต 8,282 บาท/ไร่/รุ่น ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 40 วัน/รุ่น ผลตอบแทนสุทธิ 9,941 บาท/ไร่/รุ่น เป็นพืชหลังนาที่ใช้น้ำน้อย ปัจจุบันผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง มีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อในแหล่งผลิต นอกจากนี้ ยังมีการปลูกกาแฟ ซึ่งเกษตรกรสามารถปลูกร่วมในพื้นที่ไม่เหมาะสมของการปลูกยางพาราได้ มีต้นทุนการผลิต 15,818 บาท/ไร่/ปี ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 150 วัน โดยเกษตรกรเก็บเกี่ยวปีละ 1 ครั้ง ได้ผลตอบแทนสุทธิ 20,815 บาท/ไร่/ปี ทั้งนี้ การปลูกกาแฟ ดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก มีแมลงรบกวนน้อย ราคาผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดี ผลผลิตมีการสร้างแบรนด์กาแฟเพื่อการค้าของดีจังหวัดตราดจึงมีความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง