posttoday

ไม่ไหวบอกไหว!! ทิศทางสื่อโทรทัศน์หลัง 7 ช่องทีวีดิจิทัล จอดำ

18 สิงหาคม 2562

อุตสาหกรรมสื่อทีวี เมื่อ 10 ปีก่อน(2552) เคยมีเม็ดเงินแตะอยู่ที่  51,959,343 ล้านบาท จากมูลค่ารวมอุตสาหกรรมสื่อ (ทีวี, วิทยุ, สิ่งพิมพ์, ภาพยนต์, สื่อนอกบ้าน, อินเทอร์เน็ต) อยู่ที่ 88,955,399 ล้านบาท (ข้อมูลจาก นีลเส็น) โดยสื่อทีวี รับบทพระเอกครองส่วนแบ่งหลักในอุตฯนี้มากกว่า 50% มาโดยตลอด

อุตสาหกรรมสื่อทีวี เมื่อ 10 ปีก่อน(2552) เคยมีเม็ดเงินแตะอยู่ที่  51,959,343 ล้านบาท จากมูลค่ารวมอุตสาหกรรมสื่อ (ทีวี, วิทยุ, สิ่งพิมพ์, ภาพยนต์, สื่อนอกบ้าน, อินเทอร์เน็ต) อยู่ที่ 88,955,399 ล้านบาท (ข้อมูลจาก นีลเส็น) โดยสื่อทีวี รับบทพระเอกครองส่วนแบ่งหลักในอุตฯนี้มากกว่า 50% มาโดยตลอด

ปัจจัยหลัก ที่ทำให้กลุ่มนายทุนมองเห็นความหอมหวนในธุรกิจดังกล่าว ก่อนนำไปสู่การชิงประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่เกิดขึ้นครั้งแรกในปี2556 โดยมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นเจ้าภาพจัดการประมูลฯ ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัล ซึ่งการประมูลในครั้งนั้นยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการแต่ละราย สามารถประมูลได้มากกว่า 1 ช่อง หากไม่ใช่หมวดหมู่เดียวกัน หรือเป็นการเปิดประมูล ที่มากถึง 24 ช่อง!! ทีเดียว

ล่วงมา 6 ปีถึงในวันนี้ สื่อทีวีกลับมีเม็ดเงินร่วงหล่นไปอย่างน่าใจหาย พร้อมกับการโบกมือลาจากไปของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายรายก่อนหน้า ทำให้ กสทช. ตัดสินใจเปิดทางให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ไปไม่ไหว สามารถคืนช่อง 'ทีวีดิจิทัล' ตามมาตรา 44  โดยกสทช. เตรียมจ่ายค่าชดเชยรวมทั้งสิ้น 2,932.68 ล้านบาท ให้กับ 7 ช่องทีวีดิจิทัล ล่าสุด 

EIC เผยทิศทางทีวีดิจิทัลไทยจะเป็นอย่างไรหลัง 7 ช่องทยอยจอดำ?

ดร. กมลมาลย์ แจ้งล้อม นักวิเคราะห์อาวุโส Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดทำบทวิเคราะห์ "ทิศทางทีวีดิจิทัลไทยจะเป็นอย่างไร หลัง 7ช่องทยอยจอดำ?" ดังนี้

ในระยะสั้น การคืนใบอนุญาตของ 7 ช่อง ส่งผลบวกต่อภาพรวมอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเล็กน้อย ขณะที่ ผู้ประกอบการที่เหลืออยู่ยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันต่อเนื่องจากรายได้โฆษณาที่ลดลง หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดทางเยียวยาอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และมีผู้ประกอบการตัดสินใจคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลรวมทั้งหมด 7 ช่อง

ได้แก่ Spring 26 (NOW 26 เดิม), Spring News, Bright 20, Voice TV, MCOT Family, CH 3 Family และ CH 3 SD ในวันที่ 16 สิงหาคม 2019 ช่อง Spring 26, Spring News และ Bright TV เป็น 3 ช่องแรกที่นำร่องยุติการออกอากาศ ขณะที่อีก 4 ช่องจะทยอยจอดำในเดือนกันยายนและตุลาคมนี้

อีไอซี ประเมินว่าการคืนใบอนุญาตของทั้ง 7 ช่องจะส่งผลบวกต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเพียงเล็กน้อย เนื่องจากรายได้จากการโฆษณาของทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่องในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนเฉลี่ยต่ำกว่า 5% ของมูลค่าโฆษณาทางทีวีทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้นภาวะเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศที่ผันผวนในช่วงของปี2562 รวมถึงการปรับราคาโฆษณาทีวีสูงขึ้นกว่า 4% ส่งผลให้บริษัทห้างร้านและเจ้าของผลิตภัณฑ์ชะลอการลงเม็ดเงินโฆษณาออกไป โดย Nielsen ประเมินว่าเม็ดเงินในการโฆษณาทางทีวีในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 มีการปรับลดลงราว 1%YOY มาอยู่ที่ราว 3.3 หมื่นล้านบาท

ในระยะกลาง อีไอซี ประเมินว่า ผู้ประกอบการที่เหลืออยู่สามารถสร้างรายได้และผลกำไรที่ดีขึ้นจากเม็ดเงินโฆษณาจากกลุ่มทีวีโฮมช๊อปปิ้งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและการปรับกลยุทธ์ ในปี2561 ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจทีวีโฮมช๊อปปิ้ง เช่น TV Direct, Sanook Shopping, O Shopping มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงโฆษณาจากแบบช่วงเวลาเป็นการโฆษณาขายสินค้าตลอดทั้งวัน ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาของธุรกิจทีวีโฮมช๊อปปิ้งเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 2.5 พันล้านบาทต่อปี เม็ดเงินเหล่านี้ได้กลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของช่องทีวีดิจิทัล รวมถึงจำนวนผู้ประกอบการทีวีโฮมช๊อปปิ้งหน้าใหม่จำนวนมากที่แข่งขันกันทำตลาดส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวีมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ต่างมีแผนปรับกลยุทธ์ซื้อคอนเทนท์ใหม่ ๆ จากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศเพื่อชิงเรทติ้งผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้นราว 30% คิดเป็นเงินลงทุนกว่า 8 พันล้านบาทในปี 2562 แทนการผลิตคอนเทนท์เองที่มีต้นทุนสูงกว่า ทำให้มีรายจ่ายที่ลดลงและมีผลกำไรที่ดีขึ้น

รวมทั้งมีการปรับสัดส่วนโครงสร้างธุรกิจโดยขยายช่องทางการรับชมผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้นสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้และต่อยอดในการทำธุรกิจในอนาคต

MI คาดการณ์ 10 อันดับใหม่ ทีวี ดิจิทัล ปี 2563

ขณะที่่ฝั่งผู้ประกอบการเอเยนซี  ก็ได้ให้ความสนใจต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมสื่อทีวี ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในปีหน้าเช่นกัน หลังจากพบว่าในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา (2555-2562) เม็ดเงินโฆษณาทีวีมีแนวโน้มถดถอยอย่างเห็นได้ชัด

ปัจจัยหลักมาจาก พฤติกรรมผุู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จากในอดีตเคยใช้เวลาเพื่อความบันเทิงผ่านการรับชมทีวีเฉลี่ย 6 ชั่วโมง/วัน และทยอยปรับลดเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชั่วโมง และ 2 ชั่วโมง/วัน ล่าสุดตามลำดับ ด้วยผู้บริโภคในยุคปัจจุบันหันไปใช้เวลาเพื่อความบันเทิงผ่านสื่อดิจิทัล แพล็ตฟอร์มอื่นๆ มากขึ้น 

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อิเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด หรือ IS กล่าวถึงการทยอยปิดตัวของ 7 ช่องทีวีดิจิทัล (Spring 26 , Spring News, Bright 20, Voice TV, MCOT Family, CH 3 Family และ CH 3 SD) ทั้งหมดอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนและตุลาคมนี้ นั้นคาดว่าเม็ดเงินโฆษณาจะหายไปอีกราว 2,000 ล้านบาท โดยรายได้กว่าครึ่งนั้นมาจาก ทีวีโฮมช้อปปิ้ง

ทั้งนี้ในปีหน้า ทีวีโฮมช้อปปิ้ง ก็จะยังเป็นผู้เล่นหลักในการใช้งบซื้อโฆษณา ซึ่งแม้ว่าเม็ดเงินอาจจะลดลงเล็กน้อยก็ตาม รวมทั้งเวลาในการออกอากาศอาจจะหายไปกว่าครึ่ง

เช่นเดียวกับที่ในปีหน้า คาดว่าอุตสาหกรรมทีวี ติดอันดับ 10 ช่องแรกก็จะเปลี่ยนไป ด้วยหลายช่องมีการปรับตัว และ ปรับแผนธุรกิจ ใช้พื้นที่ออกอากาศ (ออนแอร์) ที่เหลือเพื่อนำเสนอคอนเท้นต์ใหม่ เช่น ช่อง 9 ในรายการแมกซ์มวยไทยไป หรือช่อง 3HD ที่จะเหลือเพียง1ช่อง ซี่งมีการนำละครเก่ากลับมาฉายซ้ำ (รีรัน) มากขึ้น เพื่อรักษาฐานลูกค้าบางกลุ่มที่เป็นทั้งแฟนประจำละครทีวี และบางกลุ่มที่ต้องการดูละครทีวีในช่วงที่ไม่ดึกเกินไป เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้ช่วงเวลาขายให้กับทีวีโฮมช้อปปิ้งน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาไพร์มไทม์ สำหรับรายการโทรทัศน์ยังคงเวลาปกติตามเดิม รวมถึงการเพิ่มละครไพร์มไทม์ในช่องใหม่ๆ เช่น PPTV และอัมรินทร์ทีวี ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแชร์กลุ่มคนดูไปยังช่อง PPTV และอัมรินทร์ทีวีมากขึ้น ส่วนช่องOne และช่องGMM 25 คาดจะเป็นช่องที่อาจได้รับกระทบมากสุด เนื่องจากละครจากช่องใหม่นำมาเสนอนั้นวางกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน

โดยคาดว่าหลังจาก 7 ช่องทีวีดิจิทัลดังกล่าวหายไป ในปีหน้า 10 อันดับทีวีท็อปเท็นจะเกิดขึ้นใหม่ ดังนี้ อันดับหนึ่งช่อง7 อันดับสองช่อง3 อันดับสามช่องโมโน29 อันดับสี่เวิร์คพ้อยท์ทีวี อันดับห้าช่องวัน อันดับหกไทยรัฐทีวี อันดับเจ็ดอัมรินทร์ทีวี อันดับแปดช่อง8 อันดับเก้าช่องเนชั่นทีวี และอันดับสิบช่อง9โมเดิร์นไนน์

พร้อมปิดท้ายภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในปีหน้า คาดจะยังติดลบต่อเนื่องอีก 2.83% หรือมีการใช้จ่ายอยู่ราว 87,375 ล้านบาท ด้วยมองว่าไม่มีปัจจัยบวกใดๆ จากสาเหตุ 1.ไม่มีเม็ดเงินจากภาครัฐเข้ามาอัดฉีดในระบบ 2.เศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซาผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ และ3. เจ้าของสินค้า/แบรนด์หันไปสื่อสารการทำตลาดผ่านจุดขาย หรือใช้ช่องทางอี-คอมเมิร์ซมากขึ้น

และที่น่าสนใจ คือ ในปีหน้าอาจจะได้เห็นเม็ดเงินโฆษณาทีวีมีสัดส่วนลดลงไปไม่ถึง 50% เป็นครั้งแรก จากในปีนี้ (2562) สื่อทีวีครองสัดส่วนเม็ดเงินโฆษณาอยู่ที่ 52%

ขณะที่ สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ประเมินธุรกิจโฆษณาในปี2562 ไม่มีการเติบโตเมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 116,648 ล้านบาท ส่วนในปีนี้คาดการณ์อยู่ที่ 116,761 ล้านบาท (อ้างอิงข้อมูลจาก นีลเส็น)