posttoday

ความเสี่ยงวิกฤติไร้กติกาการค้า...สหรัฐ-จีนแย่งกันครองโลก

19 สิงหาคม 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

การเมืองในประเทศกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบ ยิ่งนับวันจะเข้มข้นฝ่ายค้านยกระดับไปถึงเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีโดยไม่ลงมติ ขณะที่เศรษฐกิจครึ่งปีหลังออกอาการชะลอตัวชัดเจนกำลังการผลิตลดต่ำสุดในรอบหลายปี เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดับหมดพึ่งแต่ภาคท่องเที่ยวจนครม.มีมติกระตุ้นเศรษฐกิจแบบแพ็คเกจใช้เงินเป็นแสนล้านบาทเพื่อรับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย
ปัญหาเศรษฐกิจและการค้าโลกหดตัว ปัจจัยสำคัญมาจากความขัดแย้งของสองขั้วมหาอำนาจยักษ์ของโลกกระทบเศรษฐกิจ การเมือง สังคมไปทั่ว ความขัดแย้งลุกลามไปมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจไปสู่ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศมีการจับขั้วดึงเป็นพวกเข้ากลุ่มทั้งจีนและสหรัฐวางกล้ามเป็นนักเลงโตทำอะไรก็ได้เข้าขั้นเป็นสงครามเย็นทางการค้า

ก่อนหน้านั้นสหรัฐเป็นมหาอำนาจทั้งทางทหารและเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกทุกประเทศต้อง “ซูฮก” ยอมรับเป็นพี่ใหญ่ แต่ในช่วงสองทศวรรษจีนจากยักษ์หลับลุกฟื้นขึ้นมากลายเป็นมหาอำนาจอันดับสองและมีกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ด้านเศรษฐกิจจีนพยายามดิสเครดิตดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามจะดันเงินสกุลหยวนเข้ามาในตะกร้าเงินของโลก รัฐบาลจีนครอบงำแบงค์ชาติบ่งการบิดเบือนค่าเงินทำให้ขาดความเชื่อถือ เห็นได้จากเร็วๆนี้ เมื่อส่งออกลดลงรัฐบาลจีนกดดันลดค่าหยวนทำให้กระทบอัตราแลกเปลี่ยนเงินไปทั่วโลก

สิ่งที่จีนทำได้สำเร็จคือเป็นโรงงานของโลก "Factory of The World" เป็นประเทศส่งออกอันดับหนึ่งของโลกมีมูลค่าปีละไม่น้อยกว่า 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐมีสัดส่วนการส่งออกของโลกร้อยละ 14 อีกทั้งจีนได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศต่างๆ

โดยเฉพาะกับประเทศสหรัฐฯ รัฐบาลมีการอุดหนุนทั้งด้านเงินทุนและอื่น ๆ มีการละเมิดลิขสิทธิ์-สิทธิบัตร สินค้าจีนระบาดเข้าไปแย่งตลาดทั่วโลกรวมทั้งของไทยไปที่ไหนเห็นแต่สินค้าจีนและคนจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาแย่งงานและแหล่งทำกินสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ

ด้านโลจิสติกส์จีนใช้ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกทางหนึ่งแถบกับอีกหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) หรือ “อี้ไต้ อี้ลู่” วางเส้นทางรางขนส่งทางรถไฟผ่านอิหร่าน-ตุรกีเข้าถึงตลาดยุโรป ทางด้านใต้มีทั้งเส้นทางถนนและทางรางใช้ไทยเป็นฮับเชื่อมต่อเข้าประเทศ “CLMV” ทะลุมาเลเซียไปถึงสิงคโปร์มีโครงการที่จะเชื่อมทางรถไฟของไทยกับเส้นทางของจีนที่สร้างเสร็จถึงวังเวียงโครงการจะผ่านเวียงจันทร์ข้ามสะพานแม่น้ำโขงจนถึงหนองคายอีก 2-3 ปีหากเชื่อมต่อกันได้สินค้าจีนจะทะลักเข้าไทยเพราะทางใต้แถบมณฑลยูนนานแรงงานมีมากและค่าจ้างยังต่ำตรงนี้คงต้องตั้งรับกันให้ดี

ขณะที่ทางทะเลจีนใช้ยุทธศาสตร์ "Maritime Silk Route" เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจีนและกองเรือยุทธการข้ามสองมหาสมุทรเพื่อแข่งกับสหรัฐ มีความพยายามผลักดันให้ตัดคลองลัดกระบี่-สงขลาประโยชน์ที่จะได้ไม่รู้ว่าจะคุ้มกับที่เสียหรือไม่ เคยเข้าร่วมประชุมเห็นเขากล่อมคนไทยออกมาเชียร์ตั้งแต่ระดับบิ๊ก ๆ ไปจนถึงชาวบ้าน

ที่ผ่านมาจีนพยายามแทรกตัวเข้ามาเป็นพี่เบิ้มทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหารแต่ที่สหรัฐอเมริกายอมไม่ได้คือเทคโนโลยีดิจิทัลที่จีนมีความก้าวหน้ามาก การพัฒนา 5G ทำให้ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างหัวเว่ยถูกหมายหัวว่าเข้าไปโจรกรรมข้อมูลนำไปสู่การจับกุมผู้บริหารและถูกแบนไม่ให้บริษัท ในสหรัฐทำธุรกิจ อันที่จริงจีนและสหรัฐต่างทำตัวเป็นนักเลงโตต่างกันตรงที่จีนมีวิธีแนบเนียนกว่า

ขณะที่สหรัฐใช้วิธีแบบ "คาวบอย" คืออยากได้อะไรก็ทุบเอาดื้อๆ ส่วนจีนใช้เงินผ่านการลงทุนเข้าไปในประเทศต่างๆ เช่น แอฟริกา, ลาติน, อาหรับรวมไปถึงอาเซียนจีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ การลงทุนมาพร้อมกับอั่งเปาหรือเงินค่าน้ำร้อนน้ำชาทำให้ผู้นำหลายประเทศโอนเอียงนิยมไปทางจีนไปประชุมแต่ละครั้งได้อะไรติดมือมา(ไม่ได้ระบุว่าไทย)

แต่หากประเทศใดไม่ร่วมมือหรือเห็นประโยชน์แบบเต็มๆ เขาจะไม่ลังเลแย่งชิงแบบซึ่งๆ หน้า เช่น กรณีหมู่เกาะสแปรทลีย์ในทะเลจีนตอนใต้ซึ่งมีทรัพยากรน้ำมันและแก๊สมาก ทำให้เกิดความขัดแย้งกับหลายประเทศในภูมิภาคประชุมอาเซียนทุกครั้งฟิลิปปินส์นำขึ้นมาให้ต่อว่าจีนแต่ไม่เป็นผลเพราะส่วนใหญ่ล้วนเกรงใจกันทั้งนั้น ล่าสุดมีกรณีพิพาทกับเวียดนามเพราะเรือสำรวจจีนเข้าไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะน่านน้ำแห่งนี้มีความอ่อนไหวเพราะสหรัฐถือเป็นเส้นทางเดินเรือขณะที่จีนกล่าวหาว่าท้าทายอธิปไตยทางทะเล

สหรัฐอเมริกากับจีนเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาหลายปีประธานาธิปดีสี จิ้นผิง ประกาศจะแซงหน้าสหรัฐฯเป็นอันดับหนึ่งของโลก พอมาถึงยุคคุณทรัมป์ขึ้นบัญชีว่าจีนเอาเปรียบขึ้นภาษีนำเข้าร้อยละ 25 กระทบเศรษฐกิจจีนเพราะรายได้จะหายไปกว่า 6 แสนล้านเหรียญลุกลามกลายเป็น “Trade War” แต่มีการพักยกอีกรอบเลื่อนการเก็บภาษีรอบใหม่ไปถึงกลางเดือนธันวาคมเพราะเศรษฐกิจของสหรัฐเองก็แย่แต่ความสัมพันธ์ของสองประเทศมาถึงจุดต่ำสุดคงเป็นเรื่องยากที่จะจบได้ง่าย ๆ

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพิงทั้งสหรัฐและจีนทั้งด้านการลงทุน ส่งออกและท่องเที่ยว โจทย์ของไทยคือเป็นประเทศตัวน้อย ๆ ที่ต้องหากินกับนักเลงโตสองขั้วที่ไม่ถูกกัน การดำเนินนโยบายจะต้องไม่ให้เกิดเสียสมดุลแต่ที่ต้องระวังจีนเป็นประเภท "กินรวบ" ไม่เหลือให้ใครกิน เช่น กรณียางพาราและทุเรียนเข้าไปจนถึงในสวนแถมเทคโอเวอร์โรงงานผันตัวเป็นผู้ส่งออกและนำเข้าเอง

อย่างนี้คนไทยจะได้กินอะไร เจรจากับจีนคงไม่ใช่ไปจับมือกินน้ำชาพูดแต่สิ่งดี ๆ แล้วหวังว่าเขาจะเป็นมิตรมาช่วยไทยคงไม่ใช่ ใครที่มีอำนาจวาสนาดูแลบ้านเมืองอย่ามองแค่วันนี้แต่ต้องคำนึงถึงอนาคตของลูกหลานว่าจะยังมีพื้นที่หากินในประเทศไม่ใช่แค่ชักธงชาติไทยแต่พื้นที่เศรษฐกิจกลายเป็นของคนจีนหมด....อย่างนี้ไม่เอานะครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)

ภาพจาก REUTERS/Aly Song