posttoday

อัดงบเฉียด 2,000 ล้านบาท ปรับโฉมสถานีรถไฟทั่วประเทศ

12 สิงหาคม 2562

รฟท.เตรียมเสนอขออนุมัติงบลงทุนเกือบ 2,000 ล้านบาท รื้อสถานีรถไฟ 298 แห่ง ขยับส่วนสูงชานชลาเทียบรางคู่ เพิ่มดีไซน์ตามวิถีท้องถิ่นแต่ละภูมิภาค

รฟท.เตรียมเสนอขออนุมัติงบลงทุนเกือบ 2,000 ล้านบาท รื้อสถานีรถไฟ 298 แห่ง ขยับส่วนสูงชานชลาเทียบรางคู่ เพิ่มดีไซน์ตามวิถีท้องถิ่นแต่ละภูมิภาค

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า การพัฒนารถไฟทางคู่ระยะที่ 1 และระยะที่สอง ทั้งสายเหนือและสายอีสาน จำเป็นต้องรื้อสถานีเดิมทุกแห่ง หลังจากที่กระทรวงคมนาคมมอบนโยบายให้ทำสถานียกระดับ(High Platform) กล่าวคือสถานีรถไฟทางคู่ใหม่จะยกระดับความสูงเป็น 110 เซนติเมตร จากเดิม 23 เซนติเมตร ดังนั้นต้องรื้อเพื่อปรับชานชาลาให้สูงขึ้นรวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในให้สอดรับกับสถานีใหม่เช่น สะพานข้ามฝั่งชานชาลา ระบบพื้นที่รอรถไฟ(Station Gate)เพื่อแยกผู้โดยสารกับคนทั่วไปออกจากกันเหมือนสนามบิน เป็นต้น

ทั้งนี้ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) ได้เห็นชอบให้ทำแผนพัฒนาทางสับหลีก (Siding Track)เพื่อรองรับรถขนส่งรถถังของทหาร รถไฟล้ำพิกัดและรถขนส่งสินค้าบางประเภท เป็นต้น ส่งผลให้ต้องของบลงทุนเพิ่มอีกราว 1,788 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 6 ล้านบาทต่อสถานี รวม 298 สถานี ตามเส้นทางรถไฟทางคู่ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ ช่วงนครปฐม-ประจวบคีรีขันธ์ 40 สถานี ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 27 สถานี ช่วงชุมพร - สุราษฎร์ธานี 35 สถานีและช่วงสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ 84 สถานี ส่วนสายอีสานช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา 41 สถานีและช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น-หนองคาย 91 สถานี

สำหรับแนวทางการออกแบบสถานีรถไฟหลังจากปรับปรุง นั้น จะสะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่นผสมผสานลงไปในงานดีไซน์ โดยภาคอีสานจะเน้นสีอิฐซึ่งเป็นสีเอกลักษณ์ของดินเผาบ้่านเชียง ภาคเหนือจะเน้นโทนสีเขียวแบบท้องทุ่งและภูเขา ภาคใต้จะเน้นโทนสีฟ้าน้ำทะเล และแต่ละสถานีจะออกแบบแตกต่างกันตามท้องถิ่น อาทิ สถานีไชยา ออกแบบศิลปะตามองค์พระธาตุไชยา สถานีหาดใหญ่ออกแบบศิลปะมโนราห์

ด้านการจัดซื้อรถไฟรองรับทางคู่ นั้น ล็อตแรกจะส่งมอบได้ในปี 2563 จากนั้นจะทยอยส่งมอบจนครบในปี 2565 ดังนั้นในช่วงแรกที่เปิดเดินรถไฟทางคู่จะมีการใช้รถไฟแบบผสมผสาน ระหว่างรถไฟเก่าและรถไฟใหม่ ดังนั้นรถไฟเก่าทั้งหมดจะถูกติดตั้งพื้นรองทางลาดเพื่อใช้กับสถานีรถไฟใหม่ที่มีพื้นชานชาลาสูงขึ้น