posttoday

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าปี'62 คาดยอดขายแตะ 3.2 หมื่นคัน

08 สิงหาคม 2562

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้แคมเปญการตลาด-สินเชื่อรถยนต์ยืดหยุ่นช่วงที่ผ่านมา ดันตลาดรวมรถยนต์ครึ่งปีแรกโต 7.1% แต่จากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังที่ยังฝืด ส่งผลให้ตลาดทั้งปีขยายตัว 1.8%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้แคมเปญการตลาด-สินเชื่อรถยนต์ยืดหยุ่นช่วงที่ผ่านมา ดันตลาดรวมรถยนต์ครึ่งปีแรกโต 7.1% แต่จากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังที่ยังฝืด ส่งผลให้ตลาดทั้งปีขยายตัว 1.8%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานผลการวิจัยตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2562 ยังได้รับปัจจัยบวกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ การทำกลยุทธ์ทางการตลาดของค่ายรถยนต์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ที่มีความยืดหยุ่น เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นยอดขายรถยนต์ตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์โดยรวมขยายตัวกว่า 7.1% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน คิดเป็นจำนวนรถยนต์ 523,770 คัน

สำหรับในครึ่งหลังของปี 2562 ศุนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าแม้จะมีปัจจัยบวกจากค่ายรถยนต์มีแผนเปิดตัวรถยนต์หลายรุ่นใหม่ ร่วมกับการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่จากภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่มีแรงกระตุ้นชัดเจน รวมถึงฐานยอดขายรถยนต์ที่สูงในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 และการเข้าไปดูแลการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มากขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทยในครึ่งหลังของปี ทำให้ยอดขายรถยนต์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 อาจจะมีโอกาสพลิกกลับมาหดตัวที่ 3% หรือคิดเป็นจำนวน 536,000 คัน

โดยในภาพรวมแล้ว คาดว่าตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2562 นี้ มีโอกาสที่จะปิดยอดขายได้ที่ตัวเลข 1,060,000 คัน คิดเป็นการขยายตัวเพียง 1.8% เทียบกับปี 2561 ที่ทำได้ 1,041,739 คัน

อย่างไรก็ตาม แม้ทิศทางตลาดรถยนต์ในปี 2562 โดยรวมจะไม่เติบโตเท่าใดนัก แต่ในส่วนของรถยนต์บางประเภทกลับเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เช่น ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มียอดจดทะเบียนแล้วถึง 13,611 คัน ขยายตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2561 ถึง 46% โดยรถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในไทยปีนี้

เนื่องจากมีการเปิดตัวออกสู่ตลาดหลายรุ่นมากขึ้นกว่าปีก่อน ด้วยระดับราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งประเด็นเรื่องความคุ้มค่าต่อการลงเงินเพื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากที่มีต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค แม้เศรษฐกิจโดยรวมในประเทศของไทยจะยังคงมีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างตึงตัว

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากกลไกเรื่องราคาและต้นทุนการถือครองที่ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการตอบรับที่ดีแล้ว การใช้กลยุทธ์ทางการตลาดของค่ายรถก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ขยายตัวได้ดี เช่น การเสนอรับประกันแบตเตอรี่ไฟฟ้า รับประกันระบบการทำงานของระบบไฮบริดของค่ายรถ ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจมากขึ้น

รวมไปถึงการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย เช่น การลดราคาพิเศษช่วงเปิดตัว ฟรีชุดอุปกรณ์ชาร์จไฟในบ้านพร้อมติดตั้ง เหล่านี้เป็นต้น เมื่อผนวกเข้ากับหลักการตั้งราคาที่ส่งผลทางจิตวิทยาให้ผู้บริโภคเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าแข็งขันได้มากขึ้นในตลาดรถยนต์ในประเทศของไทย

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 นี้ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยมีโอกาสที่จะทำตัวเลขได้อย่างน้อย 18,400 คัน หรือขยายตัวกว่า75% จากปีก่อน

สำหรับการขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงครึ่งหลัง เป็นผลมาจากยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆที่ได้ทยอยเปิดตัวกันออกมาในช่วง 1 ถึง 2 เดือนก่อนหน้านี้ และที่จะเปิดตัวในช่วงที่เหลือของปี โดยยอดขายเหล่านี้จะปรากฏเป็นตัวเลขปริมาณการซื้อจริงในช่วง 6 เดือนที่เหลือของปีนี้

จะส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งตลาดของไทยในปีนี้อาจขยับขึ้นไปอยู่ที่ 32,000 คัน โดยประมาณ หรือขยายตัวกว่า 61% จากปีก่อนที่ทำตัวเลขยอดขายได้ 19,880 คัน อย่างไรก็ตามหากการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกจองแล้วของบางค่ายสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเปิดตัวใหม่หลังจากนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคเกินคาด ก็อาจทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยปี 2562 สูงเกินกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้นนี้ได้

ทั้งนี้ แม้ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2562 จะมีโอกาสขยายตัวได้เล็กน้อย เนื่องจากยังคงมีปัจจัยลบที่เข้ามาฉุดรั้งอยู่ เช่น การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้ามาเข้มงวดในเรื่องการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มากขึ้น ทว่าในส่วนของตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากลับมีทิศทางที่สดใสตรงข้ามกับตลาดรวม โดยนอกจากจะเป็นเพราะมีรถยนต์ที่เปิดตลาดออกมาหลายรุ่นในราคาที่ผู้บริโภคให้การตอบรับแล้ว ยังเนื่องมาจากการที่ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ทำให้ไม่โดนกดดันจากมาตรการดังกล่าวของธนาคารแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความกังวลในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงหลังหมดอายุประกันในส่วนของอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งปัจจุบันยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในมาก ดังนั้น การที่ค่ายรถจะแสดงให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า ในระยะยาวเมื่อรถยนต์ไฟฟ้ากลายมาเป็นรถยนต์รุ่นมาตรฐานแทนที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน จะทำให้การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าเกิด Economies of scale ประกอบกับบางส่วนอาจมีการย้ายฐานมาผลิตในไทยมากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีโอกาสที่จะปรับลดลงได้ ซึ่งจะช่วยลดความกังวลของผู้บริโภคและทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้มากกว่าที่เป็นอยู่

นอกจากนี้ ในอนาคตข้างหน้าหากมีการช่วยเหลือผู้บริโภคในรูปแบบต่างๆ เช่น การลดราคาแบตเตอรี่ใหม่เมื่อเปลี่ยนคืน หรือได้ส่วนลดสำหรับซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่หากนำรถยนต์ไฟฟ้ามือสองกลับมาขายที่ค่ายเจ้าของรถ เป็นต้น ก็อาจช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค และทำให้เกิดการหมุนเวียนรถยนต์ที่เร็วขึ้น