posttoday

เศรษฐกิจครึ่งปีแรกส่งสัญญาณทรุดตัวต่ำสุด...ท้าทายกึ๋นรัฐบาลใหม่ให้แก้ปัญหา

05 สิงหาคม 2562

โดย...ดร.ธนิต  โสรัตน์   รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย...ดร.ธนิต  โสรัตน์   รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ตัวเลขชี้วัดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก (ม.ค. - มิ.ย.) เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจดูเหมือนว่าจะอ่อนแรงบางตัวทำท่าจะดับหมดแรงเสียดื้อๆ สะท้อนจากมาตรวัดทางเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาไม่ค่อยจะสู้ดีส่วนใหญ่ออกไปในทางหดตัวเป็นการต้อนรับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากผ่านอภิปรายนโยบายแบบเผ็ดมันส์ฝ่ายค้านจ้องจะเล่นยกสองยื่นไม่ไว้วางใจ จุดอ่อนคงเป็นเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจทั้งระดับชาวบ้านไล่ไปถึงระดับประเทศ ทำให้บิ๊กตู่มาเล่นบทเป็นหัวโต๊ะคุ้มครม.เศรษฐกิจ เพราะงานนี้ดร.สมคิดฯ เอาไม่อยู่แน่นอน เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม คมนาคม เกษตรฯ มาจากหลายพรรคแกนนำนั่งเป็นรองนายกฯต่างมีธงของตนเอง เสถียรภาพของรัฐบาลจะไปเร็วหรืออยู่ยาวประเด็นการเมืองเป็นรองแต่การแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้านและเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลัก

ความท้าทายทั้งของรัฐบาลและประชาชนคือเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาลงทั้งของโลกและของไทย สะท้อนจากไตรมาสแรก GDP ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.8 จากเป้าร้อยละ 4.0 อย่างเก่งปีนี้ทำได้แค่ 3 ก็ดีแล้วเกิดจากหลายปัจจัยเริ่มจากภาคส่งออกเรียกว่า “เดี้ยง” เดือนมิถุนายนติดลบร้อยละ 2.15 ทำให้ครึ่งปีแรกส่งออกหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.91 เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 ปีทุกเซกเตอร์ส่งออกล้วนติดลบทั้งเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมการผลิต การส่งแร่และเชื้อเพลิง ปัญหาสำคัญมาจากเงินสกุลบาทแข็งค่าอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 30.78 บาทต่อเหรียญสหรัฐแข็งค่าต่อเนื่องมา 2 เดือน

หากเปรียบเทียบจากต้นเดือนมกราคมปีนี้เงินบาทแข็งค่าสูงถึงร้อยละ 4.424 เป็นการแข็งค่ามากกว่าประเทศในภูมิภาค เช่น มาเลเซียเงินริงกิตแข็งค่าเพียงร้อยละ 0.265 ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ จีน อัตราแลกเปลี่ยนในช่วงเดียวกันค่อนข้างคงที่เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ทำให้ผู้ส่งออกโวยวายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแลเพราะแข่งขันด้านราคาไม่ได้บวกกับต้นทุนค่าแรงที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านเฉลี่ยสูงกว่า 2 เท่าหากปรับค่าแรงไปถึง 400 บาทคงยิ่งไปกันใหญ่ ขอให้นักการเมืองและกลุ่มเรียกร้องอย่าเอาเศรษฐกิจของประเทศที่ขณะนี้อ่อนแอมาก ๆ มาเป็นเดิมพัน

ส่งออกครึ่งปีแรกทรุดตัวมากจากการหดตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น มูลค่าการส่งออกไปประเทศจีนและฮ่องกงเฉลี่ยหดตัวร้อยละ 9.72, ประเทศญี่ปุ่นส่งออกติดลบร้อยละ 2.03, ในอาเซียนประเทศคู่ค้าหลักมูลค่าส่งออกล้วนหดตัว เช่น อินโดนีเซียติดลบร้อยละ 14.5, ประเทศฟิลิปปินส์หดตัวร้อยละ 12.66 และมาเลเซียติดลบร้อยละ 5.88  ประเทศที่ยังเป็นบวกคือเวียดนามขยายตัวร้อยละ 4.23 และสหรัฐอเมริกาที่ส่งออกขยายตัวเป็นบวกได้ถึงร้อยละ 17.35 สูงสุดในรอบห้าปี ผลกระทบที่ชัดเจนเห็นได้จากเดือนมิถุนายนดัชนีผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 5.54 ต่ำสุดในรอบสามปีทำให้ทั้งปีดัชนีอุตสาหกรรมติดลบ ผลข้างเคียงคือกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมลดต่ำถึงระดับร้อยละ 65.28 เป็นการหดตัวร้อยละ 7.65 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ตามมาด้วยดัชนีการใช้แรงงานการผลิตติดลบและการว่างงานสูงมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 5.4 หมื่นคน

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือภาคท่องเที่ยวสัปดาห์ที่แล้วมีโอกาสเดินทางไปหลายจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะภูเก็ตบอกได้เลยว่าเงียบจริง ๆ โรงแรมว่าง ร้านอาหารบางแห่งปิดตัว ทัวร์จีนที่เคยเจี๊ยวจ๊าวหายไปอย่างชัดเจนแต่ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใด ปัญหาให้รัฐบาลบิ๊กตู่เข้ามาแก้แค่นี้ยังไม่พอที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือภัยแล้ง เพราะลำพังส่งออกครึ่งปีแรกราคาสินค้าเกษตรหลักหดตัวก็มากพอแล้ว เช่น ข้าว มูลค่าส่งออกติดลบสูงถึงร้อยละ 17, ยางพาราติดลบร้อยละ 10.4 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ติดลบร้อยละ 23.61 ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังส่งออกหดตัวร้อยละ 8.55 อ้อยในรูปน้ำตาลทรายหดตัวร้อยละ 20 

สินค้าเกษตรหากเจอภัยแล้งราคาอาจสูงขึ้นแต่ผลผลิตน้อยลงเกษตรกรจะยิ่งจนหนักกว่าเดิม   ที่ฝ่ายค้านออกมาบอกว่าคนไทยจนมากขึ้นเป็นความจริง สะท้อนจากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วง 4 ปีครึ่ง หนี้หรือเงินให้กู้ยืมแก่ครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึง 2.317 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 21.75    ที่รัฐบาลอ้างว่าหนี้ประชาชนต่อจีดีพีลดลงซึ่งก็เป็นความจริงเพราะในช่วงเดียวกันลดลงร้อยละ 1.1  แต่จีดีพีที่ผ่านมาขยายตัวจากการลงทุนของรัฐในเมกะโปรเจคเม็ดเงินตกไปไม่ถึงชาวบ้านไปอยู่ในกระเป๋าทุนใหญ่เสียส่วนมาก

ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจมาถูกทางแล้วเพราะสามารถสั่งการได้ทุกกระทรวงจะต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหวังผลระยะสั้นให้เงินถึงรากหญ้า โครงการเมกะทั้งหลายทำมามากแล้วอาจเห็นผล 5-10 ปีข้างหน้า แต่ระยะเฉพาะหน้าเป็นเรื่องปากท้อง-หนี้ชาวบ้านที่สูงคงเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เห็นได้ชัดเจน เอาเงินไปทำโครงการเล็ก ๆ เช่น บ่อน้ำ ทำฝาย ทำถนนในหมู่บ้าน    ซ่อมสาธารณูปโภคให้ผู้รับเหมาท้องถิ่นรายย่อยและชาวบ้านได้อานิสงค์ ส่วนงบประมาณรายจ่าย-ขาดดุลแล้วคิดจะไปลุยออกหวยภาพ 12 นักษัตรเป็นครั้งแรกของโลกอ้างว่าเพื่อไว้บี้หวยใต้ดิน ในการซื้อสามารถผ่านแอฟพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือซึ่งไม่ต่างกับหวยออนไลน์ที่เคยว่ารัฐบาลเก่า ๆ จนเป็นเหตุให้คสช.เข้ามาปฏิวัติขอให้ทบทวนจะยิ่งซ้ำเติมให้ประชาชนจนหนักติดหวยงอมแงม....คิดง่าย ๆ แบบนี้ได้อย่างไรจริงไหมครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)