posttoday

"สนธิรัตน์" เร่งมาตรการยกระดับราคาน้ำมันปาล์มเต็มสูบ

02 สิงหาคม 2562

ก.พลังงานส่งเสริมรถยนต์เติมน้ำมัน B20 ช่วง 2 เดือนนี้ ช่วยลดปริมาณผลผลิตปาล์มล้นตลาด หนุนเกษตรกรสวนปาล์มขายราคาดี ช่วยลดมลพิษทางอากาศ

ก.พลังงานส่งเสริมรถยนต์เติมน้ำมัน B20 ช่วง 2 เดือนนี้ ช่วยลดปริมาณผลผลิตปาล์มล้นตลาด หนุนเกษตรกรสวนปาล์มขายราคาดี ช่วยลดมลพิษทางอากาศ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลชุดนี้มีความห่วงใยเกษตรกรชาวสวนปาล์มซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงได้เร่งขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือและดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่ออกสู่ตลาด โดยเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ในการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B20 ซึ่งมีส่วนผสม ‘ไบโอดีเซล’ เป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตจากปาล์ม กระตุ้นให้เกิดการรับซื้อผลผลิตมาใช้ประโยชน์ ผลักดันราคาผลปาล์มจากเกษตรกรสูงขึ้นได้

“นโยบายกระทรวงพลังงานขณะนี้ ต้องการยกระดับมาตรการส่งเสริมพลังงานบนดินให้ชัดและเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรมากที่สุดโดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ดังนั้นมาตรการส่งเสริมใช้น้ำมันดีเซล B20 ในราคาที่จูงใจ จะช่วยทำให้ภาคธุรกิจพลังงานและผู้ประกอบการในพื้นที่มีการรับซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้กลับคืนสู่เกษตรกรชาวสวนปาล์ม”

ทั้งนี้ มติที่ประชุมกบง.เมื่อ 31 กรกฎาคม 2562 นายสนธิรัตน์ เน้นย้ำเรื่องการสร้างเสถียรภาพปาล์มน้ำมันและส่งเสริมการจำหน่ายน้ำมันดีเซล B20 ให้ประชาชนผู้ใช้รถยนต์อย่างมีมาตรฐาน โดยจะขยายเวลาในการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล B20 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลธรรมดา B7 ในอัตรา 5 บาทต่อลิตรออกไปอีก 2 เดือน เพื่อจูงใจผู้ใช้รถยนต์ให้เติมน้ำมัน B20 ถือเป็นการขยายเวลาจากเดิมที่มาตรการนี้จะสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 ช่วยในการรับซื้อผลผลิตน้ำมันปาล์มที่ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า มาตรการส่งเสริมให้ใช้น้ำมันดีเซล B20 นอกจากจะช่วยยกระดับราคาปาล์มน้ำมันให้ขึ้นแล้ว ยังเกิดประโยชน์กับประชาชนทั่วไปด้วย เพราะ B20 เป็นน้ำมันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณมลพิษจากฝุ่นละอองในอากาศ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังเช่นที่ผ่านมา โดยทางกรมธุรกิจพลังงานจะเร่งขยายกลุ่มการใช้น้ำมัน B20 ประสานกับค่ายรถยนต์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมในเรื่องนี้ต่อไป

นโยบายของกระทรวงพลังงานในยุคนี้ยังมุ่งขับเคลื่อนแนวทาง พลังงานเพื่อทุกคน ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ชุมชนระดับรากหญ้าทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงระบบพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สร้างภาระค่าใช้จ่าย สร้างรายได้ อาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ทุกคนอย่างเป็นรูปธรรม

“ในอดีตกระทรวงพลังงานถูกมองในมิติเดียว คือ มิติการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของเอกชน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเพียงนักลงทุน ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงและไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ ดังนั้น ทิศทางด้านพลังงานในอนาคตของรัฐบาลชุดนี้ จะเน้นให้ประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะระดับฐานราก ได้เข้าถึงพลังงาน เพิ่มรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น”

แนวทางพลังงานเพื่อทุกคนที่จะขับเคลื่อน ได้แก่ การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ให้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มั่นคง เน้นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวภาพ พลังงานชีวมวล เข้าสู่ระบบเร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้อีก 8 ปีข้างหน้า ปลดล็อคให้พลังงานที่ผลิตจากภาคประชาชนสามารถเข้าสู่ระบบไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง สร้างรายได้แก่ชุมชน

ทั้งนี้ หน่วยงานด้านพลังงานต้องวางโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าให้แข็งแรง พัฒนาระบบสายส่งให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ทันสมัยขึ้น โดยเฉพาะโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ที่ตอบโจทย์แนวคิด “Prosumer” ที่ผู้บริโภคมีส่วนร่วมผลิตใช้เองและเหลือก็สามารถจำหน่าย เข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งอย่างมีประสิทธิภาพ

นโยบายส่งเสริมโรงไฟฟ้าจากชุมชน มีรูปแบบที่สามารถให้ประชาชนเข้าไปร่วมลงทุน มีผลตอบแทนกลับคืนมาสู่ประชาชนและชุมชน จะเน้นพลังงานหมุนเวียนที่อิงกับวิถีชีวิตของชุมชน อาทิ ชุมชนเกษตรก็จะส่งเสริมให้นำผลิตผลหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เศษไม้ยางพารา ซังข้าวโพด ตอซังข้าว ฯลฯ

กระทรวงพลังงานจะใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มาเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพลังงานในระดับชุมชน ทั้งการผลิต สร้างรายได้ สร้างอาชีพเพิ่มเติม พัฒนาเศรษฐกิจฐากราก เช่น การใช้โซลาร์เซลล์สูบน้ำเพื่อการเกษตร ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มคุณภาพและราคาให้แก่ผลิตภัณฑ์เกษตร

“ระบบพลังงานจะต้องขับเคลื่อนชีวิตของคนไทยในปัจจุบันไปสู่อนาคต ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลชุดนี้ ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าพลังงานเพื่อทุกคน เพียงพอ ทั่วถึง เป็นธรรม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี”